วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

ค่ายพระนครเหนือ


......ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้มาออกค่าย สร้างห้องสมุด ณ โรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ เมื่อวันที่ 7-24 ตุลาคม 2552 นับเป็นกลุ่มนักศึกษากลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาร่วมพัฒนากับทางโรงเรียน ค่ายนี้มีสมาชิกประมาณ 50-70 คน และยังมีบางส่วนทยอยมาสมทบเป็นระยะๆ การบริหารจัดการค่ายถือว่ามีความเป็นระบบดีมาก มีการแบ่งโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน เช่น กลุ่มอาหาร กลุ่มโครงสร้าง กลุ่มมวลชน ฯลฯ ประมาณนี้ ....
....ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ รศ.ดร.วรา วราวิทย์ ประธานภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.พระจอมเกล้านครเหนือ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ซึ่งท่านได้มาให้กำลังใจนักศึกษาถึงโรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ จากการสนทนาและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับท่านอาจารย์ ท่ามกลางคืนค่ำและดื่มด่ำบรรยากาศของเทือกภู ของคืน 14 ตุลา 52 ได้ข้อสรุปว่า จะพยายามจัดให้มีค่ายต่อไป ประมาณเดือนธันวาคม 52 เป็นค่ายลักษณะบูรณาการ อาจารย์ให้ชื่อว่า โรบัวตอง (ค่ายหุ่นยนต์)ซึ่งเป็นการผสานกันระหว่าง โรบอส (หุ่นยนต์) กับบัวตอง (สัญลักษณ์แม่ฮ่องสอนและความเป็นคนสันภู) ค่ายหุ่นยนต์โรบัวตอง ครั้งที่ 1 จึงเกิดขึ้น ณ บัดนั้นเป็นต้นมา.....

ท่าน รศ.ดร.วรา วราวิทย์ ถ่ายรูปกับผู้เขียน ขณะมาเยี่ยมและให้กำลังใจนักศึกษา

...น้องๆ ชมรมค่ายอาสา ทำงานอย่างหนัก ขมักขเม้นตามหน้าที่ของตนเอง จนงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี ที่เห็นและเหนื่อยสุดๆ คือ การไปหาไม้มาทำป้าย ซึ่งต้องปีนดอยหลายต่อหลายลูก พร้อมๆกับหามออกมาอย่างทุลักทุเล มีแกลลอนน้ำดื่มอุทัยทิพย์แกลลอนนึงเป็นสเบียงกรัง สำหรับดื่มแก้กระหายและกันหนาว....ผมยังจำภาพวันที่เราเข้าไปแบกไม้ได้ดี....







ภารกิจของชมรมค่ายอาสาพัฒนา มจพ.สำเร็จด้วยดี ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญที่สุด คือน้องๆ นักศึกษา ผู้ใหญ่ใจดีที่ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ชาวบ้านแม่นาจางเหนือ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 ที่ให้การสนับสนุนรถยนต์ หกล้อ ลำเลียงนักศึกษาจาก เชียงใหม่-แม่นาจางเหนือ คณะครู นักเรียน โรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ ทุกคนที่ช่วยกันสานสร้างสิ่งสร้างสรรค์เพื่อลูกหลาน จนเป็น หอคัมภีร์แห่งยอดดอย

ขอบคุณผู้ประสานงานและเกี่ยวข้อง
น้องเบล อัคราวุธ ชมจินดา ประธานชมรมค่ายอาสาฯ
รศ.ดร.วรา วราวิทย์ อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมค่ายอาสาฯ
โรงเรียน รปค.21 สนับสนุนยานยนต์ตลอดค่าย
พี่หมู คุณากร พิทักษ์ชลทาน กำนันตำบลแม่นาจาง
น้องๆ ชมรมค่ายอาสาพัฒนาทุกคนครับ




















วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

บนยอดดอย:ความฝันใฝ่ของครูใหญ่ (ใหม่) คนหนึ่ง

10 ปีกว่า ๆ แล้ว ที่ผมหลงมนต์เสน่ห์เมืองแม่ฮ่องสอน จนถอนตัวไม่ขึ้น ไม่รู้สิ...บอกไม่ถูกเหมือนกัน ว่าเพราะเหตุใด จึงเลือกที่จะฝากกายไว้ที่นี่ แม้.... จวบจนวาระสุดท้่ายของชีวิต ....ก็ตาม
คงจะมีเหตุผลที่ย่งใหญ่ คงมีปัจจัยที่สำคัญจนไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรสำคัญกว่าอะไร หรืออะไรย่ิงใหญ่กว่าอะไร มันเป็นความงดงามและความลงตัวของจังหวะชีวิต ที่มีคุณค่าและความหมาย จนมิอาจนิยามว่าเป็นเฉกเช่นนั้นเช่นนี้ได้...
18 เมษา 2543 คือวันแรกที่มีโอกาสได้มาสัมผัสเมืองสามหมอก นอกจากดูแผนที่และสอบถามคนรอบข้างแล้ว แม่ฮ่องสอนไม่เคยมีพิกัดในการรับรู้ใดๆ มาก่อนเลย ขณะเดินทางมา ก็เป็นช่วงหน้าแล้ง ไฟป่า หมอกควัน มืดมุงถนน และห่มคลุมดงดอยจนขาวโพลน เดินทางเกือบ 30 กิโล จะมีป้ายบอกชื่อหมู่บ้านและโรงเรียนสักที่นึง แขวนไว้ตามจุด เป็นระยะๆ นานๆจึงจะเจอบ้านคนสักหลัง แล้งก็แล้ง พื้นที่ทำเกษตรก็มีน้อย ส่วนมากเป็นพื้นที่ลาดเอียง ที่ราบลุ่มอย่างอีสานหายากมาก คิดในใจ "เขาอยู่กันยังไง" "อยู่ได้ยังไง้เนี่ย..." พร้อมกับถามย้อนตัวเองว่า "แน่ใจแล้วหรือ......ที่จะเลือกแม่ฮ่องสอน
แต่เมื่อได้มาอยุ่ ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ผู้คน และเด็กๆแล้ว จึงรู้ว่าตนเองได้ค้นพบคำตอบที่ถูกถามในใจตลอดมา อาจเพียงเพราะความง่ายงามของคนแม่ฮ่องสอน ใจดี ใจงาม

.....อาจเพียงเพราะป่าที่ยังคงเป็นป่า ที่สามารถกลั่นน้ำให้เป็นฝน และผุดพื้นซึมสาย รินรวมเป็นลำธารน้อยใหญ่ได้
......อาจเพียงเพราะความใสและไร้เดียงสาของเด็กๆ แม้จะขมุกขมอม เปื้อนฝุ่นดินผง ก็ยังคงความน่ารักตามประสาของชาวป่าชาวดอย
.......อาจเพียงเพราะถนนหนทาง ที่ยากลำบาก นับจากที่เยี่ยมสุด คือ ถนนดำ คอนกรีต ลูกรัง และยากถึงยากสุด เช่น ถนนดินเลน โคลนตม ลำน้ำ และ อื่นๆ อีกมากมายที่ใช้สัญจรไปมา ที่ในเมืองไม่อาจเรียกว่า ถนน ได้
......อาจเพียงเพราะ ฝุงหมอกที่หยอกเย้าในยามเช้าและลมโชยยามเย็นส่งท้ายเราก่อนเข้านอน
......อาจเพียงเพราะ วอมไฟของแสงเทียน จากกระท่อมน้อย บ้านพักครู ในโรงเรียนยามราตรี
.....อาจเพียงเพราะ คีตศิลป์ จากน้ำตก ที่บรรจงบรรเลงเสียงซู่ซ่าๆ ท่ามกลางความวิเวก สงบ และสงัด ของผืนป่า ซึ่งชื่นใจ ยามยลยิน
.....หรือ อาจเพียงเพราะ อะไรต่อมิอะไร อีกมากมาย ที่มันไม่ได้ยิ่งใหญ่ ในสายตาของหลายๆ คน แต่มันดลและสะกดใจเราให้แน่นิ่งราวต้องมนต์ จึงทำให้อยู่แม่ฮ่องสอน ได้ 10 ปีกว่าๆ ดังกับว่า ได้ร่วมงานปาร์ตี้ที่สนุกสนาน สัก 10 นาที
ยอมรับว่า มาแม่ฮ่องสอน ครั้งแรกๆ ตั้งใจมาอยู่ แล้วก็จะกลับ อย่างช้าไม่ให้เกิน 2 ปี จะขอย้าย เพราะเหตุผลส่วนตัว แต่แล้ว....ด้วยเหตุดังว่า วันเวลาจึงลากยาวมาถึงปัจจุบัน
.......ปีแรกบรรจุเป็นครูใหม่ ที่โรงเรียนบ้านสันติสุข สปอ.แม่สะเรียง เป็นหมู่บ้านละว้า ชาวบ้านมีอาชีพ ปลูกกะหล่ำ และทำนา นักเรียน ประมาณ 90 คน มีครู 3 คน ครูใหญ่ 1 ภารโรง 1 เปิดสอนตั้งแต่ อนุบาล-ป.6 โรงเรียนมีอาคารเรียน 3 หลัง ค่อนข้างจะพร้อมสำหรับการจัดการสอนที่นี่ พวกเราสอนจันทร์ ถึงเสาร์ หยุดวันอาทิตย์ แล้วชดเชยวันหยุดตอนปลายเดือน บางเดือนก็ได้กลับบ้าน บางเดือนก็ลงแม่สะเรียง เช่าบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งกับคุณครู 3-4 คน เพื่อไว้พักเวลามีประชุมหรือติดต่อราชการ อยู่โรงเรียนบ้านสันติสุข ได้เรียนรู้และรับประสบการณ์ต่างๆ มากจริงๆ เพราะเป็นช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน จาก นักศึกษา มาสู่อาชีพ ครู ซึ่งมีพี่ๆ คอยแนะนำทั้งทางตรงและทางอ้อม จนยากที่จะลืม... (โปรดติดตาม กำลังเรียบเรียงครับ)