รายงานโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน
บ้านแม่นาจางเหนือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2
_______________________
*** ผู้วิจัย นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ์
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานและประเมินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 ประชากรประกอบด้วย ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และนักเรียน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครู จำนวน 6 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4-6 จำนวน 30 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 30 คน และศิษย์เก่า จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ รายงานผลการดำเนินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา แบบประเมินโครงการตามแบบจำลองซิปป์ (CIPP MODEL) วิเคราะห์ผลการประเมินโดยใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการรายงาน สามารถนำเสนอได้ดังนี้
1. รายงานผลการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 พบว่า ทรัพยากรหลักที่ทำการระดม มี 5 ด้าน ได้แก่ด้าน 1) บุคลากร 2) อาคาร สถานที่และสิ่งปลูกสร้าง 3) สื่อ วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยี 4) แหล่งเรียนรู้ และ5) ทุนการศึกษา แหล่งทุนมี 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งทุนภายนอกหน่วยงาน และแหล่งทุนจากหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งแหล่งทุนส่วนใหญ่เป็นแหล่งทุนภายนอกหน่วยงาน ได้แก่ 1) มูลนิธิสามสาระ ประเทศไทย 2) คุณซูซาน เรซ (Khun Susan Race) และคณะ3) ค่ายหุ่นยนต์และอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 4) บริษัทแพนดอร่าจิวเวอรี่ กรุงเทพฯ5) กลุ่มเลือดร้อยเอ็ด 6) ชมรมศัลยแพทย์ข้อเข่าข้อสะโพกประเทศไทย 7) บริษัทซีเอ็ดบุ๊ค 8) ค่ายอาสาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 9) ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน กรุงเทพฯ 10) วิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง 11) ภาคเอกชนจังหวัดชลบุรี ฯลฯ ผลการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2551 -2553 พบว่า ด้านบุคลากร สามารถระดมได้ 39 รายการ ด้านอาคาร สถานที่และสิ่งปลูกสร้าง สามารถระดมได้ ทั้งหมด 27 รายการ มูลค่า 5,500,700 บาท ด้านสื่อ วัสดุ อุปกรณ์และเทคโนโลยี สามารถระดมได้ 37 รายการ มูลค่า 2,144,900 บาท ด้านแหล่งเรียนรู้ สามารถระดมได้ 39รายการ ส่วนใหญ่วิทยากรท้องถิ่นและครูอาสา และด้านงบประมาณ ส่วนใหญ่เป็นทุนการศึกษา สามารถระดมได้ 48 รายการ มูลค่า 630,500 บาท
2. ผลการประเมินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 สามารถสรุปผลได้ดังนี้
ผลการประเมินด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิตของโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 มีความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน ผลการประเมินความพึงพอใจ พบว่า ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาตามหลักทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 โดยรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับ มากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน ส่วนผลกระทบของโครงการ หลังจากการดำเนินโครงการ พบว่า มีผลกระทบต่อโรงเรียน ผู้บริหาร ครูและนักเรียน โดยได้รับรางวัลและการยกย่องเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งด้านวิชาการ บุคลากร จำนวนหลายรายการ
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1. สถานศึกษาทั่วไป ควรมีการประยุกต์ใช้กลยุทธ์การระดมทรัพยากรชนิดต่างๆ ตามสภาพบริบทของแต่ละสถานศึกษา
2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรมีการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรครู ผู้บริหารสถานศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการระดมทรัพยากรในแต่ละด้านเป็นอย่างดี ตลอดจนควรนำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนสถานศึกษา ให้สามารถระดมได้ด้วยตนเองตามศักยภาพ ทั้งนี้ไม่ขัดต่อระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอแนะสําหรับการวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรศึกษาแบบจำลอง หรือโมเดลเกี่ยวกับการระดมทรัพยากรในด้านอื่นๆ เพื่อให้มีการพัฒนารูปแบบและนำไปสู่การเผยแพร่อย่างกว้างขวางและหลากหลายต่อไป
2. ควรมีการศึกษาการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาที่ระดมได้ ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการมีหรือได้มาของทรัพยากรเหล่านั้น ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้เรียน ครู โรงเรียน และชุมชนอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น