วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ถนนมีไว้ให้ ใจเดิน

......เมื่อวาน ผมและพี่น้อง ผองเพื่อน ภายในศูนย์ฯแม่นาจาง นำโดย ผอ.เสน่ห์ ประธานศูนย์ ท่านปลัด อบต.แม่นาจาง ป.เสริฐ และทีมงานครูเกือบ 20 ชีวิต ได้ไปส่งครูจรัญ เปรมเจริญจิตร ซึ่งย้ายไปโรงเรียนสังวาลย์วิทยา อ.แม่สะเรียง ครูสิทธิพงษ์ ทองประดิษฐ์ ย้ายไปโรงเรียนบ้านแม่ออก อำเภอสบเมย นอกจากการไปส่งครูย้ายซึ่งเราทำกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของศูนย์ฯอยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้ จากการไปในครั้งนี้ก็คือ การแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากการทำงาน ของผู้บริหาร เพื่อนครู โรงเรียนต่างๆ ที่ได้ไปเยือน ซึ่งแน่นอนล่ะว่า มีอะไรที่น่าสนใจ และแปลกใหม่ เหมาะแก่การนำมาใช้ในโรงเรียนหรือชีวิตส่วนตนเป็นแน่
.......โรงเรียนสังวาลย์วิทยา นั้น เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีการเติบโต ทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม รูปธรรมที่เห็นชัดที่สุด คือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งในวันนี้ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด เติมเต็มตามลานใหญ่และซอกตรอกว่างของพื้นที่ในโรงเรียน จนลานตาไปหมด
.........ด้านนามธรรมนั้น ที่ชัดที่สุดเห็นจะเป็น การทบทวนประวัติศาสตร์ ของโรงเรียนและค้นอดีตออกมา ปัดฝุ่น เพื่อสร้าง ความตระหนัก แก่ ครู นักเรียน และชุมชน ในการเป็น เชื้อ นำสู่ การพัฒนา นับเป็นกลยุทธ์ที่ คมคายและแยบยล ประกอบกับ ความเก๋า ในชั้นเชิงการบริหาร เช่น การประสานสิบทิศ จึงทำให้ในวันนี้ โรงเรียนมี ทุนคน ทุนเงิน สำหรับการพัฒนาในระดับหนึ่ง ซึ่งหาก รอการอุดหนุนจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว นั้น โรงเรียนคง ทรง กับ ทรุด หรืออาจจะเดินมาไม่ได้ เท่าทุกวันนี้ ตรงนี้น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดี (best practice ) สำหรับผู้มาเยือน เยี่ยงผมและทีมงาน
........นอกจากนั้น ประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ การทำงานสนอง นโยบาย หรือ กระแส จาก หน่วยเหนือ ทำให้โรงเรียน ไม่หลงทิศ และ ติดชาร์ต อยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้ง ในบางเรื่อง อาจจะรู้สึกขัดหรือฝืน กับความรู้สึกอยู่บ้าง แต่ถ้าไม่คิดมาก และกล้าเลือกที่จะมองในแง่ดี ของ นโยบาย หรือ กระแส เหล่านั้น ก็จะทำให้ค้นพบ สิ่งดีๆ ที่ซ่อนอยู่ ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนดีใกล้บ้าน หรือ โรงเรียนในฝันนั้น หลายคน ยึด ติดรูปแบบ ทำให้ม่านหมอกแห่งความไม่รู้ ไม่เข้าใจ มันพันพัว จนจ่อมจม มองไม่เห็นทางออก ต่อต้าน และไม่ยอมรับ แต่ถ้าหากก้าวข้าม และเติมเต็มรูปแบบ นั้น ให้เหมาะสมสอดคล้องกับ ความเป็น เรา มันก็จะช่วยให้เรา ได้เรียนรู้ เพิ่มขึ้น เช่น ได้เห็นว่า โรงเรียนในฝันนั้น คนต้นเรื่องคือครู ซึ่งพยายามนำเสนอสิ่งที่ได้ ถ่ายทอด สืบสาน บอกสอน ฝึกปรือ ลูกศิษย์ ผ่าน ลานบูรณาการ ทุกกลุ่มสาระ โดยสอนให้เด็กตัวน้อยๆเป็น ครูของตนและคนอื่น ได้ คนเล่นและเดินเรื่องจริงๆ คือเด็กน้อย นี่จึงเป็นแก่น ของโรงเรียนในฝัน ส่วนขั้นตอน รูปแบบ วิธีการต่างๆ นั้น เป็นเพียงแค่เปลือก เมื่อเห็นหรือเข้าใจ เช่นนี้ และไม่ติดรูปแบบแล้ว ก็จะรู้ได้ว่า โรงเรียนในฝัน นั้น ไม่ได้เกินเลยที่ความจริงจะไปถึง แต่ก็ไม่ง่ายนัก ที่จะเกิดขึ้นได้บนความอ่อนแอและไม่จริงจัง ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาทำได้ ซึ่ง หากขาด การกล้าที่จะมองแง่บวก ของ นโยบาย แล้ว ก็อาจไม่ได้เห็นกิจกรรมดีๆ ต่างๆ เหล่านั้น.......

..........โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่ได้ไปเยือน คือโรงเรียนบ้านแม่ออก ตั้งอยู่บนดอยสูง และสูง สูงจนคิดว่า เขาจะดื่มน้ำจากที่ใดหนอ .....ถนนหนทางโค้งคด โอบรัดขุนเขา แล้วไต่เลื้อยบนหลังภู ลูกแล้วลูกเล่า ขบวนรถปิ๊กอัพของพวกเรา 4-5 คัน แล่นล้อไล่หลังกันเป็นระยะ ผงฝุ่นหิมะแดง คละคลุ้งดงดอยเป็นทางยาว จนถึงดอยที่สูงที่สุด ชาวบ้านเรียกว่า พุ่ยโค่ หรือ ดอยปุย ซึ่งวิวทิวทัศน์บนยอดดอยและตลอดสองข้างทางสวยงามมาก จากนั้นคณะเรา ก็ค่อยๆ คลานรถ ต่ำลงๆ วกลง ๆ สาละวน รอบก้นหอยแห่งหุบเขา และแล้วก็ถึงโรงเรียน ......โรงเรียน..... ในหุบเขา ....โรงเรียนบ้านแม่ออก
........โอ๊ย ยากมากๆ ......นี่เดือนกุมภา นะครับ ถ้าเดือน กรกฎา สิงหา พี่น้องเราจะเดินทางยากลำบากเพียงใด ไม่อยากคิด ที่รู้ได้คือ เห็นใจและเข้าใจ......นั่นเป็นทางเดิน ที่ยากลำบาก กันดาร แต่อย่างไรก็ตาม ความกันดารก็ได้ทำหน้าที่ครูที่สอนสิ่งดีๆ กับ ผม อย่างน้อย สามประการ ดังนี้
.............ประการแรก คือ ใจ ครับ อย่างน้อย ผมก็มาส่งครูคนนี้ (ครูสิทธิพงษ์) ซึ่งอดีตเคยเป็นครูที่นี่เมื่อ 3 ปีก่อน และเลือกที่จะกลับมา ที่ที่มีความหมายสำหรับเขา อีกครั้ง ถ้าไม่ใช่ ใจ คงหาเหตุผลอื่นใดไม่เจอ.....(ผมคิดและเชื่อเช่นนั้น)
............ประการที่สอง คือ ความเป็นพี่เป็นน้องและรักใคร่กลมเกลียวกันของทีมงาน คำพูดนึง ที่ได้ฟังแล้วชื่นใจมิหายและชดเชยความเมื่อยล้าจากการเดินทางได้ คือคำว่า พวกเรารอครูโอ๋(สิทธิพงษ์) อยู่ ซึ่งเอ่ยออกจากปากของเพื่อนร่วมงานที่ใสซื่อและไร้มายาเจือปน ช่างเป็นคำยืนยันที่บ่งบอกว่า ที่นี่มีความหมายสำหรับเขาและเขาก็มีความหมายสำหรับที่นี่ เช่นกัน
.............ประการที่สาม คือ จิตวิญญาณของความเป็นครู ดูจากสภาพโครงสร้างพื้นฐาน อาคารสถานที่ ครูทุกคนที่นี่ ทั้งในอดีตที่ผ่านมา และปัจจุบัน ได้ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับที่แห่งนี้ มิใช่มาเพื่อจากไป โดยไม่ทิ้งเยื่อใย ไว้กับข้างหลัง ตรงนี้สำคัญมาก เพราะครูดอยเรานั้น เมื่อถึงเวลาก็ย้ายและส่งไม้ให้เพื่อนคนต่อไป รับช่วงต่อ หากมีไม้ใดไม้หนึ่ง ไม่รู้หน้าที่ หลงทาง ชักช้า เมินเฉย หรือขาดวิญญาณของความเป็นครู ก็จะทำให้การเดินทาง ถึงเป้าหมายช้าลง กว่าที่ควรจะเป็น หรือหลงป่า ตกดอยไปเลยก็เป็นได้ ....ครูที่นี่ ได้แสดงให้เห็นว่า แม้ถนนหนทางยากลำบาก ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่เคย ขาดแคลนความเป็นครู ที่จะอุ้มชูลูกศิษย์ให้ถึงฝั่งฝัน เรื่องนี้เรื่องใหญ่และสำคัญ ผมเชื่อเช่นนั้น....
.......เดินทางไกล สุดไกล แสนไกล ป่ายปีน สู่ยอดพุ่ยโค่สูง
........ทางยาก ลำบาก กันดาร มาด้วยเท้า ม้า รถ หรือ ยนต์ยาน ใด จักหาถึงไม่
.......ทางยากเยี่ยงนี้ ลำบากเยี่ยงนี้ กันดารเยี่ยงนี้
........ถ้าไม่มาด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู
.........ถ้าไม่มาด้วย ใจ ที่กล้า-แกร่ง-เต็ม -เปี่ยมด้วยพลังเยี่ยงนี้แล้ว .....ยากนักหนอ....จักมาถึง
........ครับ นั่น คือบทเรียน ที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางไปเยือนถิ่นสถานต่างๆ ผมและทีมงาน เหนื่อยล้ากับสังขาร และความกันดารไกล แต่ก็สุขใจ จริงๆ ครับ
.........ขอบพระคุณเจ้าของบ้าน มิตรผู้พานพบ และเพื่อนพ้อง น้องพี่ที่ร่วมเดินทาง ด้วยใจด้วยกัน บทเรียนเหล่านี้ ไม่ใช่การเดินทาง ตาม นโยบาย หรือ กระแส ที่คิดจะทำก็ทำ หากแต่คือความงดงามของ การเติมเต็มรูปแบบให้สอดคล้องกับเรา กล้าที่จะเลือกสิ่งที่ดีๆ และกล้าที่จะใช้ ใจ เดินแทน เท้า

.............ขอบคุณ ดอกสะแบงที่แต้มแต่ง ผืนป่า คราร้อนแล้ง ให้มีสีสัน สดใส และงดงาม ขอบคุณมิตรภาพและสิ่งจรุงจิตของ รอยเท้าที่ใจเดิน ขอบคุณดอยสูง ลูกนั้น ที่แบ่งปันความงดงามและน้ำใจ ให้แก่กันและกัน

พิณ คืนเพ็ญ

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คำหอมจากค่ายลูกเสือศูนย์

.......ฟางข้าวใหม่ หอมกรุ่น อุ่นทรวง
.......ลมหนาวแผ่วผ่าว ร้าวหน่วง ดวงจิต
.......ลำธารใส ไหลสาย ชวนพิศ
.......ลำชีวิต ไหลลาย สู่หนใด
.................เถียงนาน้อย บนดอยแม่จอโกล๊ะ...........

............การเข้าค่ายลูกเสือของศูนย์เครือข่ายฯแม่นาจาง ปีนี้ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี หลังเสร็จสิ้นงานแล้ว ทีมงานเลยทำการสรุปแนวปฏิบัติที่ดีเลิศ และถอดบทเรียนจากการทำงาน จับประเด็นรวมๆ ได้ ดังนี้

.........อย่างแรก เราพบว่า มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา สังเกตได้ว่า ประชุมล่วงหน้า 5-6 วัน แล้วระดมคนมาช่วยกันเตรียมงาน ตัดไม้ ขนถ่ายวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องเสียง ฯลฯ เหนื่อย แต่แล้วเสร็จตามรูปแบบ หากแต่ยังขาดความละเอียดของเนื้องาน อยู่บ้างบางส่วน

.........อย่างที่สอง เราโชคดี โชคดีที่ว่า คือ มีครูที่เป็นตัวหลักและมีประสบการณ์ในการจัดค่ายลูกเสือ จึงนำพาน้องๆ เตรียมงาน ดำเนินงาน ให้ผ่านพ้นไปได้ ด้วยดีในระดับหนึ่ง

.........อย่างที่สาม บุคลากรมีน้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เนื่องจาก ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ แยกไปจัดต่างหาก ครูบางส่วนจึงต้องไปเตรียมการที่นั่น กำลังหลักบางท่านจึงหายไป

........อย่างที่สี่ กิจกรรม ตลอดสามวัน นั้น ในส่วนของฝ่ายอาหาร ฝ่ายต้อนรับ ฝ่ายสถานที่ ทุกคนช่วยกันดีมาก โดยไม่ติว่า จะมีชื่อตนในคำสั่งหรือไม่ หากแต่ช่วยกันด้วยใจ ตรงนี้คือความงดงามและเป็นจุดแข็ง

........อย่างที่ห้า ฝ่ายพิธีการ ยังขาดการทำงานเป็นทีม มีผู้นำกิจกรรมเพียงบางคนแถมยังผูกขาดตลอดงาน นอกนั้น เลือกที่จะเป็นผู้ตาม หรือมีบ้างซึ่งเลือกที่จะหลุดจากวงโคจร คิดว่าคงจะเป็นเรื่องของการมี อารมณ์ร่วม ในกิจกรรม มากกว่า

.......อย่างที่หก รูปแบบกิจกรรม การดูแลจัดการ รวมถึงการดูแลเด็กๆ อาจจะยังไม่รัดกุมเท่าที่ควร ที่ประชุมให้เหตุผลว่า ด้วยข้อจำกัดของเวลา

.......เอาล่ะ จากการประมวลประเด็นต่างๆ อย่างคร่าวๆ ทั้งหมดนั้น น้ำหนักส่วนใหญ่จะเทมา ทางการปรับปรุง แก้ไข เพื่อให้งานของเราในปีต่อๆไป ดียิ่งขึ้น เป็นการติ เพื่อก่อ มากกว่าวิพากษ์วิจารณ์แล้วไม่ทำอะไรสักอย่าง เราไม่ปฏิเสธว่า มีข้อจำกัดด้านเวลา ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ปฏิเสธความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น จากการทำงานในครั้งนี้ พร้อมน้อมรับทุกสิ่งทุกอย่าง ว่านี่คือ นาฏกรรมร่วม ของพวกเรา แต่สิ่งหนึ่ง ที่ยังชื่นใจอยู่เสมอก็คือว่า เราเคยสร้างมาตรฐานการเข้าค่ายลูกเสือ เมื่อปีก่อน ได้อย่างภาคภูมิใจและน่าชมเชย ลงตัวเกือบจะทุกอย่าง โดยประเด็นทั้งห้าหกข้อที่กล่าวมานี้ ถูกปิดมิดจนไม่มีช่องโหว่ นั่นเป็นมาตรฐาน เป็นมาตรฐานที่ทีมงานส่วนหนึ่ง ในวันนั้น ก็คือทีมงานส่วนหนึ่งในวันนี้....ได้เคยทำไว้

.......อย่างไรก็ตาม ..วันเวลา เปลี่ยน สถานที่เปลี่ยน ผู้คนเปลี่ยน ตัวป้อนเปลี่ยน กระบวนการเปลี่ยน ผลที่เกิดขึ้น ก็ย่อมต้องเปลี่ยนตามเหตุปัจจัย เป็นธรรมดา มันคือความจริง ที่ต้องยอมรับ แต่สิ่งงดงามของวันนี้ คือทำให้รู้คุณค่าของวันนั้น และวันนี้ทำให้ไม่ยึดมั่นกับวันนั้น หากยืนอยู่บนการเปลี่ยนแปลง อย่างรู้เท่าทันและพยายามอยู่ให้เหนือการเปลี่ยนแปลง นั่นแหละ จึงจะถือว่า เป็นมาตรฐานที่อยากไปให้ถึง ทั้งในฐานะปัจเจก และทีมงาน ทุกคน ในศูนย์ฯ

......เป็นกำลังใจให้กับพี่น้อง เพื่อนพ้องทุกคน ให้ยืนอยู่ เข้าถึง การเปลี่ยนแปลง อย่างรู้เท่าทัน
แม้...เถียงนาน้อย...บนดอยแม่จอโกล๊ะ เก่า โทรม เอนข้างฝักใฝ่ ข้างใดข้างหนึ่ง อย่างเห็นได้ชัด
........ฟางข้าวใหม่ แห้ง ถูกหมอก และอบแดดตลอดวัน ตกเย็นมา ส่งกลิ่นหอมกรุ่น นวนนุ่ม ละมุนทรวง
........น้ำใส ไหลสาย รินรวม จากต้นน้ำปลายดอย สู่สายธาร สดับเสียง มิขาดสิ้น ได้ยลยิน ตลอดคืน
........ไหลทุกวัน ไหลทุกคืน่ มิหยุด มิจบ มิสิ้น
........ดุจชีวิต ที่ถูกไหลด้วย ความไม่เที่ยงแห่งสังขาร มิหยุด มิจบ มิสิ้น เช่นกัน
........เวียนว่าย ในวังวน สังสารวัฏ จนกว่า.......จะอยู่เหนือการเปลี่ยนแปลง นั่นแหละ
.........จึงจักหยุด จักจบ จักสิ้น..........


.................คำหอม จากฟ้างข้าว เถียงนาน้อย ลุ่มดอย อบต. แม่จอโกล๊ะ พินิจอยู่เหนือการเปลี่ยนแปลง

..........................สิบเอ็ด กุมภา ห้าสี่...........

..........................พิณ คืนเพ็ญ ...................