......กบฎทางความคิดที่เกิดขึ้น ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่องโจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล....การบินสู่อิสรภาพ....ที่เคยดูตอนเรียนวิชาปรัชญาวิทยาศาสตร์ ประมาณปี 2545 จากท่านอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมได้คัดลอกเนื้อหาและภาพจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=149165 ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตนเองสู่ความมีอิสรเสรีภาพ...ได้บ้าง

ยามเช้า ....
.....ดวงตะวันใหม่สดใสส่องแสงสีทองทอดทาบระลอกทะเลที่สงบเยือกเย็น เรือตกปลาลำหนึ่งจอดลอยอยู่ห่างจากชายฝั่งหนึ่งไมล์ ส่งสัญญาณให้อาหารนกกระจายขึ้นไปในอากาศ และแล้วฝูงนางนวลจำนวนพันก็โผบินเข้ามาแย่งอาหารกันกิน วันแห่งความสับสนอีกวันหนึ่งก็เริ่มขึ้น......
แต่ไกลออกไปจากชายฝั่งและเรือ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล กำลังฝึกบินอยู่เดียวดาย
มันบินสูงขึ้นไปในท้องฟ้าหนึ่งร้อยฟุต ลดเท้าที่ติดกันลง เชิดปากขึ้น และกระชับปีกเข้าหากันเพื่อหักมุมเลี้ยวที่แสนยากเย็น เมื่อมันเลี้ยวโจนาธานก็บินได้ช้าลง และเมื่อมันบินช้าๆ สายลมก็พัดผ่านหน้าราวกับเสียงกระซิบ เบื้องล่างท้องทะเลดูสงบนิ่ง
โจนาธานหรี่ตาตั้งสติแน่วแน่กลั้นหายใจ แล้วก็บังคับให้ตัวหักมุมเลี้ยว….อีกหนึ่งนิ้วฟุต…
แต่แล้วขนของมันก็กระจุย มันชงักเสียหลักตกลงมา

นี่คือบทเริ่มต้น...ในหนังสือเรื่อง"โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล" แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมชอบ...และเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องการคิดนอกกรอบ(ของใครหลายคน)
เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมชอบ...และเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องการคิดนอกกรอบ(ของใครหลายคน)

ความจริงแล้ว เรื่องของโจนาธาน ผมอ่านฉบับแปลโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อนอ่านของอ.ชาญวิทย์ด้วยซ้ำ
หม่อมคึกฤทธิ์ใช้ชื่อหนังสือว่า "จอนะธัน ลิฟวิงสตัน นางนวล"
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขียนคำนำว่า "...เมื่ออ่านแล้วเกิดความจับใจในธรรมะที่ได้แสดงไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีทั้งมนุษยธรรมและธรรมอันเป็นความจริงแห่งชีวิตซึ่งตรงตามที่พระพุทธเจ้าผู้ซึ่งเป็นพระบรมศาสดา และสรณะของผมได้ทรงแสดงไว้เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วมากมายหลายอย่าง..."
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนต่อว่า "...คนที่ผมอยากให้อ่านหนังสือเล่มนี้คือคนไทยทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิตนักศึกษาและนักเรียน เพราะจะได้กำลังใจในอันที่จะเล่าเรียนและทำประโยชน์ต่อไปได้มาก สำหรับคนที่เคยได้เล่าเรียนวิชาจากผมโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นวิชาใด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใด และไม่ว่าจะมากหรือน้อย ผมขอถือโอกาสนี้ส่งข่าวมาให้ทราบว่า...
"ผมอยากให้คุณอ่านหนังสือเล่มนี้ทุกคน จะอ่านจากภาษาอังกฤษหรืออ่านจากคำแปลนี้ก็ได้ แต่ขอให้อ่านให้ได้ และในการอ่านนั้น ขอให้โปรดใช้ความคิดให้มากประกอบไปด้วย อย่าอ่านเพียงสักแต่ว่าผ่านสายตาไป นกนางนวลมันรักศิษย์ของมันฉันใด ผมก็รักพวกคุณทุกคนฉันนั้น"
".....สิ่งที่ทำให้ นางนวล โด่งดังขึ้นมาคงจะเป็นความง่ายของหนังสือเป็นประการแรก หนังสือเล่มนี้ง่ายในความหมายที่ว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่อ่านได้สบายๆ ในขณะเดียวกันก็แฝงปรัชญาความคิดเอาไว้ด้วย ลักษณะของหนังสือเป็นเรื่องผสมผสานกันระหว่างความเก่าและความใหม่ ความใหม่ที่แทรกเข้ามาก็คือ ความทันสมัยและวิทยาศาสตร์ในรูปของ Science Fiction คือ เรื่องของการบินเร็วและสามารถจะ บินได้เร็วเท่าความคิด นอกเหนือไปจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ประทับใจคนอ่านก็คือ อิสระเสรีภาพ คนอ่านไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามมีอิสระที่จะตีความหนังสือเล่มนี้ได้ตามใจชอบดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยอะไรเลย ที่มีคนตีความว่าปรัชญาของนางนวล เป็นฮินดูบ้างเป็นพุทธศาสนาบ้าง เป็นคริสตศาสนานิกาย Christian Science บ้าง หรือแม้กระทั่งว่าเป็นปรัชญาเก๊ๆ ก็มี ..." ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนไว้ใน"คำตาม"
หนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงโจนาธาน นกนางนวลที่ชอบ"แหกคอก" ด้วยการ"ฝึกบิน"
เพราะสำหรับนกนางนวลนั้น พวกมันบินเพื่อหาอาหาร
"ทำไมนะ จอน ทำไม" แม่ถามขึ้น "ทำไม่มันยากนักรึที่จะทำตัวให้เหมือนนกอื่นๆ ในฝูง หือ จอน ทำไมแกไม่ปล่อยให้การบินระดับต่ำเป็นเรื่องของนกเพลิแกน หรือนกอัลบาทรอส แล้วทำไมแกไม่กินซะบ้าง จอน แกน่ะเหลือแต่กระดูกและขน!"
"แม่ ฉันไม่กลัวที่จะเหลือแต่กระดูกและขนฉันเพียงแต่อยากรู้ว่าเมื่อฉันอยู่ในอากาศ ฉันจะทำอะไรได้หรือทำไม่ได้ ฉันเพียงแต่อยากรู้เท่านั้นเอง"
"นี่นะโจนาธาน" พ่อพูดขึ้นอย่างไม่ไร้ความปรานี "หน้าหนาวก็ไม่ไกลนัก แล้วเรือหาปลาเหลือไม่กี่ลำ และปลาผิวน้ำก็จะว่ายลงสู่น้ำลึก ถ้าแกจะต้องเรียนรู้ แกก็ต้องเรียนรู้เรื่องอาหาร และก็หาอาหารกินให้ได้ เรื่องการบินนี่นะดีอยู่หรอก แต่แกก็น่าจะรู้ว่าการบินการร่อนกินเข้าไปไม่ได้ อย่าลืมว่าเหตุที่แกบินก็เพื่อเอาไว้หากิน"
โจนาธานพยักหน้ารับอย่างเชื่อฟัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อ"ลับหลังพ่อและแม่...โจนาธานก็แหกคอก หลังจาก(พยายาม)ทำตัวเหมือนนกนางนวลตัวอื่นๆ นั่นคือส่งเสียงร้อง สู้ ร่อนลงแย่งเศษปลาและขนมปังกับฝูงนกที่ท่าน้ำและเรือตกปลา
โจนาธานคิดว่าการทำเช่นนั้น ไม่มีจุดหมาย บ่อยครั้งที่มันยอมทิ้งปลาแห้ง(ซึ่งหามาได้อย่างยากเย็น)ให้กับนกนางนวลแก่ๆที่หิวโหย
โจนาธานคิดว่ามันควรจะใช้เวลาทั้งหมดในการฝึกบิน เพราะมีอะไรมากมายที่จะต้องเรียนรู้
ไม่นานต่อมา โจนาธาน สามารถบินได้เร็วถึง 90 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งนั่นเป็นการทำลายสถิติความเร็วในหมู่นกนางนวล!!!
สิ่งที่โจนาธาน"เรียนรู้"หลังฝึกบินก็คือ นกนางนวลไม่บินยามค่ำและบินเร็ว เพราะหากเป็นเช่นนั้น ธรรมชาติก็จะต้องให้มีตาเหมือนนกฮูก และมีปีกสั้นเหมือนนกเหยี่ยว
แต่เมื่อต้องการเรียนรู้...โจนาธาน จึงทดลองทำ...ทุกอย่าง
จึงไม่น่าเชื่อว่า โจนาธานสามารถบินได้เร็วถึง 210 ไมล์ต่อชั่วโมง และขยับเป็น 214 ไมล์ต่อชั่วโมงในเวลาต่อมา!!!
สุดท้าย โจนาธานถูกขับออกจากฝูง...เพราะถือว่าเป็นการสร้าง"ความอับอาย"ในการเป็นนกนางนวล
"…สักวันหนึ่ง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล แกจะรู้ว่าการไร้ความรับผิดชอบไม่มีประโยชน์อะไร ชีวิตเป็นเรื่องลี้ลับ และจะเรียนรู้ไม่ได้ เรามาอยู่ในโลกนี้เพียงเพื่อกิน และพยายามมีชีวิตอยู่ให้ยืนยาวเท่าที่เราจะทำได้" นางนวลผู้เป็นใหญ่พูด
ต่อมา...โจนาธาน พบกับนางนวลฝูงใหม่
ซึ่งที่นี่ โจนาธาน พบกับ"เจียง" นางนวลเฒ่า ที่บอกโจนาธานด้วยความเมตตา "ว่าไงลูก..เธอกำลังเรียนรู้อีกแล้วนางนวลโจนาธาน"
รวมทั้งได้พบ นางนวลซัลลิแวน นางนวลเฟลทเชอร์ ลินด์ นางนวลเมย์นาร์ด นางนวลโลเวล นางนวลชาลส์-โรแลนด์
ทั้งหมดคือ"เพื่อน"...ในการเรียนรู้ของโจนาธาน
"กฎที่แท้จริงอันเดียวคือ กฎที่นำไปสู่อิสระเสรีภาพ" บทสรุปของโจนาธาน
และผมถือว่าเป็นบทสรุปที่"สุดยอด"
...............................................
.....ครับ สำหรับผมแล้ว คิดว่า โจนาธาน คือ ต้นแบบของการก้าวสู่โลกทัศน์ใหม่ ที่มีเป้าหมายคืออิสรภาพของชีวิต การเดินทางดังกล่าว ต้องมีความเชื่อมั่น ศรัทธาและก้าวที่กล้า จึงจะทำให้พบทางเสรีได้อย่างแท้จริง ผมไม่ได้ต้องการให้ทุกคนเดินออกจากกรอบเดิมของสังคมเสียในทุกด้าน ไม่ได้ต้องการให้ใครต่อใครลุกมาต้านวัฒนธรรมทางความคิดเดิมที่เราเป็นกันหรอก เพียงแต่ทำไม เราต้องเดินตามก้นกัน อยู่อย่างนั้น เช่นนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำไมเราเดินโดยไม่กล้าหยุดถามตัวเองว่า "จะเดินไปสู่หนไหน" หรือเป็นเพราะเราชินชาและตายด้านต่อการตรวจสอบวิถีเก่าๆ บางอย่าง เพียงเพราะ เขาว่า... เขาบอก.... เขาสอน....ผ่านวันเวลายาวนานแรมปีกระนั้นรึ... ถ้ามองแค่นั้น ผมว่ามันยังไม่พอ ไม่พอเพราะว่า บางครั้ง การนอกคอกทางความคิด ถือเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมที่ขาดแคลนความสร้างสรรค์ เฉกเช่นสังคมไทย...พิณ คืนเพ็ญ