วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ลานประสบการณ์















คณะตัวแทนสำรวจสถานที่สร้างค่าย ขณะมาสำรวจพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ

........................................................

ค่ายสร้าง มทร.ธัญบุรี เปิดค่ายปลายตุลาคม 53

พร้อมๆ กับฝอยฝน ลมหนาวและข้าวไร่เหลือง

งานทุกอย่างถูกแข่งกับเวลา เวลาที่มีจำกัดในการปฎิบัติภารกิจที่ตั้งไว้

.....เราจะทำลานอเนกประสงค์.....

ลานอเนกประสงค์ ที่มีกายเป็นวัสดุ มีจิตเป็นโครงสร้าง มีหยาดเหงื่อแทนเม็ดทราย

มีน้ำใจเป็นตัวประสาน ให้งานเทลานสำเร็จลงได้.....เป็นลานที่สอนให้ทุกคนเรียนรู้ คำว่า ให้

ให้ผู้อื่นก่อนที่จะรับหนึ่ง

ให้โอกาสเรียนรู้กับตนหนึ่ง

ให้ความมุ่งมั่นเป็นเนื้องานหนึ่ง

ให้ความทุ่มเท...จวบฟ้าสางหนึ่ง

เพียงเป้าหมายเดียว คือ ภารกิจที่ตั้งไว้ ต้องแล้วเสร็จก่อนเดินทางกลับ

นับเป็นความอาจหาญ ของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ จากกรุงไกล

นับเป็นอหังการ์ของหน่อเนื้อดนุชน ที่ดอยไกล ได้รู้จักและต้อนรับ

นับเป็นผลิใบใหม่ อันงดงามของสังคม ในยามที่ต้องการความร่มเย็นจากแมกไม้

นับเป็นผลผลิตของระบบการศึกษา ที่ทุกคนกำลังหาคำตอบ

การศึกษาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

การศึกษาเพื่อการให้สิ่งดีดีแด่ผู้อื่น

การศึกษาเพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน

การศึกษาเพื่อสร้างคน ให้เป็นคนที่สมบูรณ์

นักศึกษาค่ายพัฒนาสังคม มทร.ธัญบุรี คือคำตอบ

เพราะพวกเขา ตอบคำถาม ผ่านการกระทำตลอดระยะเวลา ที่อยู่ แม่นาจางเหนือ

เพราะพวกเขา ได้แสดงออกในสิ่งที่สังคมฝันถึงและถวิลหา

พวกเขาเห็น และยลยิน เสียงเล็กๆ ของเพื่อนผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย

พวกเขา จึงได้รังสรรค์ กิจกรรมดีงามเหล่านี้

จึงไม่แปลกที่ หนุ่มสาวเหล่านี้จะเข้าไปนั่ง ใน หัวใจของมวลชน

จึงไม่แปลกที่ งานตั้งธงไว้ ได้ก่อเกิดเป็นลานที่งดงาม

เป็นลานแห่งการเรียนรู้ เป็นลานประสบการณ์ชีวิต เป็นลานอเนกประสงค์

และเป็นลานอะไรต่อมิอะไร ฯลฯ

.....ตลอดระยะเวลาที่ฝอยฝน ลมหนาว ข้าวไร่เหลืองมาเยือน......
เราเห็น เรารับรู้ เรารับทราบ .....เราซาบซึ้ง

เราชื่นชมและศรัทธาท่าน จากใจจริง

..........นักศึกษาค่ายพัฒนาสังคม มทร.ธัญบุรี.......

จากใจจริงของเรา คนภูเขา

ดอยแม่นาจางเหนือ แม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน

วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

ค่ายพระนครเหนือ


......ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้มาออกค่าย สร้างห้องสมุด ณ โรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ เมื่อวันที่ 7-24 ตุลาคม 2552 นับเป็นกลุ่มนักศึกษากลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาร่วมพัฒนากับทางโรงเรียน ค่ายนี้มีสมาชิกประมาณ 50-70 คน และยังมีบางส่วนทยอยมาสมทบเป็นระยะๆ การบริหารจัดการค่ายถือว่ามีความเป็นระบบดีมาก มีการแบ่งโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน เช่น กลุ่มอาหาร กลุ่มโครงสร้าง กลุ่มมวลชน ฯลฯ ประมาณนี้ ....
....ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ รศ.ดร.วรา วราวิทย์ ประธานภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.พระจอมเกล้านครเหนือ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ซึ่งท่านได้มาให้กำลังใจนักศึกษาถึงโรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ จากการสนทนาและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับท่านอาจารย์ ท่ามกลางคืนค่ำและดื่มด่ำบรรยากาศของเทือกภู ของคืน 14 ตุลา 52 ได้ข้อสรุปว่า จะพยายามจัดให้มีค่ายต่อไป ประมาณเดือนธันวาคม 52 เป็นค่ายลักษณะบูรณาการ อาจารย์ให้ชื่อว่า โรบัวตอง (ค่ายหุ่นยนต์)ซึ่งเป็นการผสานกันระหว่าง โรบอส (หุ่นยนต์) กับบัวตอง (สัญลักษณ์แม่ฮ่องสอนและความเป็นคนสันภู) ค่ายหุ่นยนต์โรบัวตอง ครั้งที่ 1 จึงเกิดขึ้น ณ บัดนั้นเป็นต้นมา.....

ท่าน รศ.ดร.วรา วราวิทย์ ถ่ายรูปกับผู้เขียน ขณะมาเยี่ยมและให้กำลังใจนักศึกษา

...น้องๆ ชมรมค่ายอาสา ทำงานอย่างหนัก ขมักขเม้นตามหน้าที่ของตนเอง จนงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี ที่เห็นและเหนื่อยสุดๆ คือ การไปหาไม้มาทำป้าย ซึ่งต้องปีนดอยหลายต่อหลายลูก พร้อมๆกับหามออกมาอย่างทุลักทุเล มีแกลลอนน้ำดื่มอุทัยทิพย์แกลลอนนึงเป็นสเบียงกรัง สำหรับดื่มแก้กระหายและกันหนาว....ผมยังจำภาพวันที่เราเข้าไปแบกไม้ได้ดี....







ภารกิจของชมรมค่ายอาสาพัฒนา มจพ.สำเร็จด้วยดี ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญที่สุด คือน้องๆ นักศึกษา ผู้ใหญ่ใจดีที่ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ชาวบ้านแม่นาจางเหนือ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 ที่ให้การสนับสนุนรถยนต์ หกล้อ ลำเลียงนักศึกษาจาก เชียงใหม่-แม่นาจางเหนือ คณะครู นักเรียน โรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ ทุกคนที่ช่วยกันสานสร้างสิ่งสร้างสรรค์เพื่อลูกหลาน จนเป็น หอคัมภีร์แห่งยอดดอย

ขอบคุณผู้ประสานงานและเกี่ยวข้อง
น้องเบล อัคราวุธ ชมจินดา ประธานชมรมค่ายอาสาฯ
รศ.ดร.วรา วราวิทย์ อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมค่ายอาสาฯ
โรงเรียน รปค.21 สนับสนุนยานยนต์ตลอดค่าย
พี่หมู คุณากร พิทักษ์ชลทาน กำนันตำบลแม่นาจาง
น้องๆ ชมรมค่ายอาสาพัฒนาทุกคนครับ




















วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

บนยอดดอย:ความฝันใฝ่ของครูใหญ่ (ใหม่) คนหนึ่ง

10 ปีกว่า ๆ แล้ว ที่ผมหลงมนต์เสน่ห์เมืองแม่ฮ่องสอน จนถอนตัวไม่ขึ้น ไม่รู้สิ...บอกไม่ถูกเหมือนกัน ว่าเพราะเหตุใด จึงเลือกที่จะฝากกายไว้ที่นี่ แม้.... จวบจนวาระสุดท้่ายของชีวิต ....ก็ตาม
คงจะมีเหตุผลที่ย่งใหญ่ คงมีปัจจัยที่สำคัญจนไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรสำคัญกว่าอะไร หรืออะไรย่ิงใหญ่กว่าอะไร มันเป็นความงดงามและความลงตัวของจังหวะชีวิต ที่มีคุณค่าและความหมาย จนมิอาจนิยามว่าเป็นเฉกเช่นนั้นเช่นนี้ได้...
18 เมษา 2543 คือวันแรกที่มีโอกาสได้มาสัมผัสเมืองสามหมอก นอกจากดูแผนที่และสอบถามคนรอบข้างแล้ว แม่ฮ่องสอนไม่เคยมีพิกัดในการรับรู้ใดๆ มาก่อนเลย ขณะเดินทางมา ก็เป็นช่วงหน้าแล้ง ไฟป่า หมอกควัน มืดมุงถนน และห่มคลุมดงดอยจนขาวโพลน เดินทางเกือบ 30 กิโล จะมีป้ายบอกชื่อหมู่บ้านและโรงเรียนสักที่นึง แขวนไว้ตามจุด เป็นระยะๆ นานๆจึงจะเจอบ้านคนสักหลัง แล้งก็แล้ง พื้นที่ทำเกษตรก็มีน้อย ส่วนมากเป็นพื้นที่ลาดเอียง ที่ราบลุ่มอย่างอีสานหายากมาก คิดในใจ "เขาอยู่กันยังไง" "อยู่ได้ยังไง้เนี่ย..." พร้อมกับถามย้อนตัวเองว่า "แน่ใจแล้วหรือ......ที่จะเลือกแม่ฮ่องสอน
แต่เมื่อได้มาอยุ่ ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ผู้คน และเด็กๆแล้ว จึงรู้ว่าตนเองได้ค้นพบคำตอบที่ถูกถามในใจตลอดมา อาจเพียงเพราะความง่ายงามของคนแม่ฮ่องสอน ใจดี ใจงาม

.....อาจเพียงเพราะป่าที่ยังคงเป็นป่า ที่สามารถกลั่นน้ำให้เป็นฝน และผุดพื้นซึมสาย รินรวมเป็นลำธารน้อยใหญ่ได้
......อาจเพียงเพราะความใสและไร้เดียงสาของเด็กๆ แม้จะขมุกขมอม เปื้อนฝุ่นดินผง ก็ยังคงความน่ารักตามประสาของชาวป่าชาวดอย
.......อาจเพียงเพราะถนนหนทาง ที่ยากลำบาก นับจากที่เยี่ยมสุด คือ ถนนดำ คอนกรีต ลูกรัง และยากถึงยากสุด เช่น ถนนดินเลน โคลนตม ลำน้ำ และ อื่นๆ อีกมากมายที่ใช้สัญจรไปมา ที่ในเมืองไม่อาจเรียกว่า ถนน ได้
......อาจเพียงเพราะ ฝุงหมอกที่หยอกเย้าในยามเช้าและลมโชยยามเย็นส่งท้ายเราก่อนเข้านอน
......อาจเพียงเพราะ วอมไฟของแสงเทียน จากกระท่อมน้อย บ้านพักครู ในโรงเรียนยามราตรี
.....อาจเพียงเพราะ คีตศิลป์ จากน้ำตก ที่บรรจงบรรเลงเสียงซู่ซ่าๆ ท่ามกลางความวิเวก สงบ และสงัด ของผืนป่า ซึ่งชื่นใจ ยามยลยิน
.....หรือ อาจเพียงเพราะ อะไรต่อมิอะไร อีกมากมาย ที่มันไม่ได้ยิ่งใหญ่ ในสายตาของหลายๆ คน แต่มันดลและสะกดใจเราให้แน่นิ่งราวต้องมนต์ จึงทำให้อยู่แม่ฮ่องสอน ได้ 10 ปีกว่าๆ ดังกับว่า ได้ร่วมงานปาร์ตี้ที่สนุกสนาน สัก 10 นาที
ยอมรับว่า มาแม่ฮ่องสอน ครั้งแรกๆ ตั้งใจมาอยู่ แล้วก็จะกลับ อย่างช้าไม่ให้เกิน 2 ปี จะขอย้าย เพราะเหตุผลส่วนตัว แต่แล้ว....ด้วยเหตุดังว่า วันเวลาจึงลากยาวมาถึงปัจจุบัน
.......ปีแรกบรรจุเป็นครูใหม่ ที่โรงเรียนบ้านสันติสุข สปอ.แม่สะเรียง เป็นหมู่บ้านละว้า ชาวบ้านมีอาชีพ ปลูกกะหล่ำ และทำนา นักเรียน ประมาณ 90 คน มีครู 3 คน ครูใหญ่ 1 ภารโรง 1 เปิดสอนตั้งแต่ อนุบาล-ป.6 โรงเรียนมีอาคารเรียน 3 หลัง ค่อนข้างจะพร้อมสำหรับการจัดการสอนที่นี่ พวกเราสอนจันทร์ ถึงเสาร์ หยุดวันอาทิตย์ แล้วชดเชยวันหยุดตอนปลายเดือน บางเดือนก็ได้กลับบ้าน บางเดือนก็ลงแม่สะเรียง เช่าบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งกับคุณครู 3-4 คน เพื่อไว้พักเวลามีประชุมหรือติดต่อราชการ อยู่โรงเรียนบ้านสันติสุข ได้เรียนรู้และรับประสบการณ์ต่างๆ มากจริงๆ เพราะเป็นช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน จาก นักศึกษา มาสู่อาชีพ ครู ซึ่งมีพี่ๆ คอยแนะนำทั้งทางตรงและทางอ้อม จนยากที่จะลืม... (โปรดติดตาม กำลังเรียบเรียงครับ)




วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ถอดบทเรียนจากบทความ



กลยุทธ การโจมตีแบบกองโจร
หลักการ : การโจมตีคู่แข่งที่เก่งและเหนือกว่าเกือบทุกด้าน

วิธีการ : ใช้คนน้อย ทรัพยากรน้อย จู่โจม ทำลายคู่ต่อสู้ ในจุดอ่อนหรือจุดบอดที่มีอยู่ ใช้รูปแบบซุ่มตี ค่อยๆ ตี ค่อยๆ ทำลาย โดยไม่ให้ข้าศึกรู้ตัว บนฐานคิด "ไม่หวังชนะ แต่ทำให้ข้าศึกพ่ายแพ้เอง "

รูปแบบ : ตี ถอย หลบ ตี ถอย หลบ ......เป็นวงจรไปเรื่อยๆ

แทคติก : ยืดหยุ่น ปรับตัวได้สูง ไม่อายที่จะถอย และรอคอยที่จะกำชัย

บทเรียนที่ควรนำมาใช้กับการบริหาร :
คู่แข่งหรือคู่ต่อสู้ คือ ตัวเรา หรือองค์กรเราเอง โดยแข่งกับมาตรฐานที่กำหนดไว้

การโจมตี คือ การใช้เทคนิคในการบริหารเพื่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง และองค์กรจากง่าย ไปยาก จากเล็กไปใหญ่ และทำทันทีที่มีโอกาส (โอกาสบางครั้งต้องสร้างเอง)

ถอย คือ การโจมตีอีกวิธีหนึ่งแต่ไม่เน้นการรุก หากแต่ให้ความสำคัญกับการทบทวนกลยุทธ วิธีการปฏิบัติ และรักษามาตรฐานที่มีอยู่(ยึดฐานที่มั่น)

หลบ คือ การพัก กาย ใจ (จำศีล) และทำการฝึกซ้อม พัฒนาตนและองค์กร ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ไม่หยุดนิ่ง เพื่อรอคอยโอกาสที่จะเข้าโจมตี เป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้ตนเองและองค์กร

มิทันได้ร่ายกระบี่ เลือดข้าศึกก็ชุ่มธรณี
มิทันได้ร่ำสุรา ไหเหล้าก็เซไถล
มิทันได้ก่อฟืนไฟ ไม้ก็ไหม้ ถ่านก็มอดเป็นผุยผง
...............................................



ขอบคุณ เกร็ดบริหาร บทความจาก คุณ ต๊อกแต๊ก www. classifiled thai.com

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ระดมคน ระดมทุน หนุนสร้างแม่นาจางเหนือ




นับจากวันแรกที่เข้ามาอยู่โรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ 10 มกราคม 2551(เหนือจากความตั้งใจแต่แรกเริ่ม เพราะเดิมที กะจะเลือกโรงเรียนบ้านดงใหม่ ต.ห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน ) มีอาคารเรียน สปจ.มส.5/36 อยู่ หนึ่งหลัง ห้องน้ำห้องส้วม 2 หลัง อาคารเรียนชั่วคราว แบบ ชบส.(ชาวบ้านสร้าง) 1 หลัง เป็นห้องเรียนสามห้อง และโรงอาหารอีกห้อง ติดโรงอาหารมีต้นส้มโอ 2 ต้น ออกลูกดกหนาเต็มต้นจนกิ่งโน้มลงดิน ถัดไปเป็นบ้านพักฟากไม้ไผ่ (แบบ ชบส. เช่นกัน) ด้านหน้ามีระเบียงชมจันทร์ ยามค่ำคืนคงงดงามมิน้อย หน้าบ้านติดป้ายบ้านพักผู้อำนวยการ ในโรงเรียนมีครู 3 คน (หญิง 2 ชาย 1) โดยครูผู้หญิงนอนในอาคาร 5/36 ส่วนครูผู้ชาย นอนที่อาคารของ อบต. ซึ่งทางโรงเรียนขอใช้เป็นอาคารเรียนของเด็กอนุบาล อยู่กันเป็นสัดส่วนตามสภาพที่พอจะมีได้ สนามกีฬาจากเดิมเป็นเนินดินเตี้ยๆ ก็ได้รับการปรับพื้นที่ โดย อบต.แม่นาจาง ซึ่งมีสภาพที่สวยงาม และน่าใช้งาน (บนดอยมีสนามเช่นนี้ได้ถือว่าดีมากแล้ว) สภาพดิน น้ำ อุดมสมบูรณ์ดีมาก ที่สำคัญ หน้าฝนมีละอองหมอกเกือบค่อนวัน เวลาเดินผ่าน ขนคิ้วเปียกฉ่ำด้วยน้ำหมอกพรม




คืนแรกของผู้มาใหม่ มีงานเลี้ยงรับ ผอ. พี่น้องเพื่อนพ้องในศูนย์ฯแม่ขีด(ชื่อศูนย์ในขณะนั้น) มากันครบหน้า ทุกคนดื่มกินกันพอสมควร ตกดึกก็แยกย้ายกันกลับ บ้างก็เข้าไปนอนในหมู่บ้าน บ้างก็นอนโรงเรียน บางรายก็กลับฐานที่มั่น ครูแม่ขีด ครูกอกหลวง อยู่ไกล จึงเลือกที่จะนอนที่นี่ เจ้าภาพช่วยกันดูแลแขกเป็นอย่างดี คุณครูผู้หญิงอยู่ดูแลผู้มาเยือนซึ่งกำลังติดลม 2-3 คน จนวงเลิก ส่วนคณะที่มาส่งจากบริพัตร แยกหลับตามเต็นท์ที่คุณครูจัดให้ มีเสียงกรน สูง -ต่ำ สลับกันมิขาดสาย เป็นเมโลดี้ที่ลงตัว ดังระงมดอย คนที่ไม่ชินก็จะบ่นว่าหนวกหู ส่วนใครที่เคยก็ป่วยการที่จะเอ่ยปาก อาการหนักและน่าเป็นห่วงที่สุดคือ พี่เอ็ดดี้ สุภาพบุรุษแห่ง กลุ่มสาระ กอท.ของเรา นอนละเมอ ....ไม่ มี ปัญ หา า า....เด๋ว ผมจัดให้......... เป็นระยะๆ จวบจนฟ้าสาง ด้วยระยะทางที่ยาวไกลและกันดาร ด้วยฤทธิ์เมรัยที่รุ่มร้อนและซาบซ่าน ส่งผลให้ทุกคนเข้านอน ด้วยความสงบ และหลับสนิท .............





ผมกวาดสายตามองรอบทิศ คิดว่ายามนี้คงไม่มีใครแล้ว และกำลังจะเดินขึ้นไปบ้านพักผู้อำนวยการ (แบบ ชบส.) พลันก็ได้ยินเสียง




"ผอ. ดื่มเป๋นเจ้าหมู่ เฮาน้อย" ชายคนแรกเอ่ย




"ผมไม่ไหวแล้วครับบบ..." ผมรีบออกตัว เพราะไม่ไหวจริงๆ ง่วงและเพลียมาก




"ฮาว่า ผอ. คนนี้ บ่า เกิน 2 ปี๋ กะย้าย" ชายอีกคน รีบพูด พร้อมกรอกเบียร์ลงคอ ดัง อึก ๆ ๆ




ผมหยุด พร้อมกลับหลังหันให้บ้านพักประจำตำแหน่ง (ชบส.)และเริ่มเปิดเวทีประชาคม รับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน (ก็มีมา ณ กาลครั้งนั้น)




พวกเราสามคน ก่อกองไฟ ดื่มบรรยากาศ สนทนา รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ทุกคนมีรายละเอียด มีความคิดที่มากมุม และแตกต่าง จนดาวลับฟ้าเกือบดวงสุดท้าย ฟืนมอดเป็นเถ้าผุยขาว เสื่อปูนั่งชุ่มชื้นด้วยละอองหมอก
....ทุกคนมีความแตกต่าง แต่เรามีสิ่งหนึ่งที่ตรงกัน ................
....ปับ ๆ ๆ เสียงไก่หัวบ้าน ข้างโรงสี ตีปีกปับๆๆ และโก่งคอขัน เป็นเหตุให้ตัวอื่นๆ ขันรับช่วงต่อกันเป็นทอดๆ จากหัวยันท้ายบ้าน ฟากฟ้าทางตะวันออก ระหว่างช่องอกของยอดดอยทั้งสอง มองจากโรงเรียนเห็นทะมึนใหญ่ เริ่มสว่างทีละนิดทีละน้อยแล้ว ต้นมะตึ๋งข้างอาคารโดนลมต้องยามเช้า ติงใบอย่างนวลนุ่ม พร้อมกับไหวใบต้องแสงเป็นมันวาบ เป็นระยะๆ
"เราจะช่วยกันพัฒนาให้แม่นาจางเหนือ ให้เหนือยิ่งๆ ขึ้นไป"
สิ้นเสียงแว่วจำนรร กองไฟก็เดียวดาย เราแยกย้ายกันพักผ่อน เป็นคืนแรกที่แม่นาจางเหนือ ที่ผมมีกำลังใจดีที่สุด
....เราจะช่วยกัน พัฒนาให้แม่นาจางเหนือ เหนือยิ่งๆ ขึ่นไป........