.....ถึงแม้บางอย่าง อาจจะไม่เกี่ยวเนื่องกันเสียทีเดียว แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า ผลของคลื่นยักษ์ดังกล่าว มีส่วนต่อ ท่าที และ วิถี ที่ทุกส่วนได้เดินมาก่อนหน้า รวมทั้งก้าวแต่นี้ ที่จักดำเนินไป ทำให้ประเด็นการศึกษา แผ่ซ่านซึมลึกในมรรคาของผู้คนในสังคม กว่าก่อนเดิมอย่างมีนัยยะ
......ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด...คือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ร่วมเดินทางกับคณะลุง อา พี่ เพื่อน แห่ง สพป.มส.2 เยี่ยมเยือน พี่น้องครู หลายโรงเรียน ตามโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ของสำนักเขตพื้นที่ฯ ที่ได้จัดขึ้น นี่ก็นับเป็นตัวอย่างของก้าวที่ได้เดินมาก่อนหน้า ในอีกหลายๆเรื่องและก็อีกหลายๆอย่าง ซึ่งกำลังจัดวางในที่ทาง ที่เหมาะสม มีโอกาสจะได้สื่อสาร ผ่านห้องครัวอักษราแห่งนี้ในลำดับ ต่อไป
จากการเดินทาง พวกเราได้เห็น ต้นกล้าหน่อดาว ที่รอวันโตสุกสกาวใส เป็นความหวังแห่งแผ่นดิน ในเกือบทุกหย่อมย่าง เราพบว่า โหมดความคิดต่อการศึกษาของพี่น้องชนเผ่า บนพื้นที่ภูเขาสูง ได้ เปลี่ยนย้าย ย้ายจากเดิมที่ ให้น้ำหนักไปที่ โอกาส ในการเข้าถึงการศึกษา เช่น อยากให้มีโรงเรียน อยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ อยากให้มีครูมาสอน ฯลฯ แต่วันนี้ ทุกคน ได้ผ่องถ่ายของเก่า และไต่เต้าบันไดมุ่งสู่คุณภาพการศึกษา กันทุกชาติพันธุ์ ย้ำชัดตรงกัน ว่า อยากให้ลูกหลาน อ่านออกเขียนได้ เป็นคนเก่ง คนดี มีงานทำ และนำสุขมาสู่ชีวิตและชุมชน ผู้ปกครองทุกหมู่บ้านที่คณะเราได้เห็น ต่างตั้งธงคุณภาพไว้ที่ตัวลูกหลานเป็นปลายทาง ส่วนรูปแบบ วิธีการ และการจัดการ (เรียนรวม พักนอน โรงเรียนเขตพื้นที่) นั้น สุดแท้แต่ หน่วยจัด (โรงเรียน) จักเห็นว่าเหมาะสม พวกเขาพร้อมสนับสนุนและร่วมดำเนินการเต็มที่.....
ครับ นี่นับเป็นปรากฎการณ์ เปลี่ยนย้ายชุดความคิด โดยย้ายจาก ชุดความคิดหนึ่งไปสู่อีก ชุดความคิดหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนย้าย ที่น่าสนใจ น่าสนใจตรงที่ว่า การย้าย ครั้งนี้ อิงคุณภาพ เป็นฐานคิด และก้าวข้าม ปัญหา ข้อจำกัด อุปสรรค เล็กๆ น้อยๆ ที่จะเหนี่ยวรั้ง มิให้ ธงชัยโบกไหว สะบัดไกว.....
"ผมขอสอนหนังสือ แต่งานการเงิน บัญชี พัสดุ งานธุรการ เข้าประชุม และอบรม ขอให้โรงเรียนที่มีครูเยอะๆ ทำหน้าที่แทน" ครูหนุ่มคนหนึ่งกล่าว หลังจากที่เขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรวมในบางชั้น เนื่องเพราะแบกรับภาระอันหนักอึ้ง ทั้งดอยกันดารไกล มีเขาเป็นครู อยู่คนเดียว
"เฮากะหันดีโตย เพราะตึงวัน ครูเฮากะมีน้อย ไหนจะประชุม อบรม ขึ้นลง ดอย ละอ่อนแทบจะบ่ได้เฮียน ท่าเยี้ยะจะอี้ ผลดีจะเกิดกับละอ่อน" ผู้ปกครองอีกคน ย้ำยัน ข้อเสนอของครูหนุ่ม และแนวทางที่เขาเลือก
ในขณะที่ผู้ปกครองอีกฟากดอย ซึ่งโรงเรียนมีนักเรียนยี่สิบกว่าคน ก็ร่วมกันคิดและหาทางออกว่า จะเปิดสอนตั้งแต่อนุบาล จนถึง ป. 2 ส่วน ป.3-6 จะไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่น ฯลฯ
พิณ คืนเพ็ญ
ยามเช้าก่อนเดินทางฯ
3 ตุลา 56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น