วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศรัทธา

ศรัทธามรรคาวิถี
นับวันทวียิ่งล้ำ
หอมค่า หอมคำ หอมทาง
หอมย่าง..รอยธรรม...คุรุชน



ครูศิวกานท์ ปทุมสูติ

เหมือน




 ....ท่ามกระแสเชี่ยวกรากแห่งยุคสมัย
....ใช่หรือไม่  ว่า
... เราท่านต่างถูกกะเกณฑ์ ให้เดินไป ตามสายพานของระบบเศรษฐกิจ
....ดิ้นรน กระเสือก กระสน หาอยู่หากิน ในสงครามของปากท้อง ดุจนกและหนู 
....จะเศรษฐี  หรือ ยาจก  ล้วนเดียวกัน  แผกกันบ้าง ก็คงตรง ระดับกี่มากน้อย ของใครมัน เท่านั้นกระมัง
....สุดท้ายแล้ว ล้วนประคับประคองชีวิตน้อยๆ ให้พลอย พ้น ผ่าน วันและคืน...
...เพียงยามตื่นได้อิ่ม ยามหลับได้อุ่น ...ทั้งเรือนกายและเรือนใจ เหมือนๆ กัน...
...ใช่แค่นี้น่ะหรือ?  มนุษย์...

    29 มิถุนา 57
นา ตม ลม ข้าว แม่สะเรียง
 

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รำพึงตน

 ( 1)
         .....โลกภายนอกดูซ้อนซับ นับวันยิ่งสลอนสลับ จนยากจะทันถึงและเข้าใจ
        .....ทุกสิ่งโยงใยเกี่ยวเนื่อง แยกขาดจากกันมิได้
        .... สิ่งนี้มี กลายเป็นเหตุต่อสิ่งนั้น ยาวเฟื้อย รุงรัง ร้อยกระหวัดสานถัก..มิจบสิ้น
        .....หาต้น หาปลายแทบ ไม่เจอ
        .....มองมุมนึง ก็เหมือนว่าเนื่องร้อย
        .....มองอีกมุม หาเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย คล้ายว่า แต่ละสิ่ง ต่างทำหน้าที่ของตน อย่างเสรี

      
 ( 2)
       .....เคยถามตนเอง ชอบเกียร์อะไรมากที่สุด ของรถยนต์ชีวิต
       .....ก เกียร์หน้า
       .....ข เกียร์ถอย
       .....ค เกียร์ว่าง
เกือบทุกครั้งที่ถาม
.....คำตอบที่ได้มักเป็น ก เกียร์หน้า เสมอ
มีบ้างเหมือนกัน ที่ ข  ค และมักใช้เวลาครุ่นคิด นานกว่าปกติเสมอ ก่อนที่จะตอบ

                              ใช่เพราะสัญชาตญาณหรือไม่ ?  
                              ที่นำทางให้ เดินหน้า เดินหน้า เดินหน้า ....
                               เวลาส่วนใหญ่ จึงพุ่งไปสู่พรุ่งนี้
                              เกียร์ว่างเลยถูกเก็บ เกียร์ถอย จึงถูกซ่อน

ไม่เคยปฏิเสธการมีอยู่ ทั้งสามเกียร์ของชีวิตหรอกนะ
และก็ไม่เคยปฏิเสธ การเลือกเกียร์ในชีวิต เฉกเกียร์หน้านั้น เช่นกัน

ว่าแต่...
เราเร่งรีบอะไร ไปหรือเปล่า จนทำให้เช้างามกรุ่นอวลหมอก จางหายไปจากความรู้สึกรู้สา
เราเร่งรีบอะไร ไปหรือเปล่า จนทำให้สองเท้า มีพื้นที่สำหรับการทะยานมากกว่า ยืนนิ่ง หรือ ทบทวน
เราเร่งรีบอะไร ไปหรือเปล่า จนทำให้ช้าไม่ได้ แม้เพียงหยุดอยู่กับที่ ก็กลัวจะถอยหลัง...

หากธงหมาย คือปลายทางที่จะไปให้ถึง
เราไม่ปฏิเสธหรอกว่า มาจากการห้อตะบึงของเกียร์หน้า ....เป็นส่วนใหญ่
แต่เจอทางตัน ติดหล่ม เดินหน้าไม่ได้ จะทำให้นึกถึง เกียร์  อะไร
ที่สำคัญ รู้ไหม ทุกครั้งที่จะเดินหน้า ถอยหลัง  ล้วนตั้งลำจาก ฐานว่างก่อนเสมอ
โอ...สายพานของสัญชาตญาณ นำเราไป พาเราไป จนพราก บางสิ่ง หลงลืมบางอย่าง ที่มีค่าไป เช่นกัน


(3)
........มุ๊งมิ๊ง มุ๊งมิ๊ง ยุงบินวุ่นว่อน
........ยามตื่นยามหลับ มันบ่ยอมนอน
........ยังวุ่น บินว่อน หากิน มุ๊งมิ๊ง


(4)

เปอเลอะ

"เฮือนเฮาบ่ใหญ่
ไฮ่เฮาบ่กว้าง
ข้าวมีเปอเลอะ
กินเยอะๆ เน้อครู
ออ แบ แบะ ...ออ แบ แบะ"

....แม่ลิด....
 มิถุนา ห้าเจ็ด


ทัศนาการปรองดอง (นสพ.ไทยรัฐ)





บางส่วนของการให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ น่าจะเป็นประโยชน์ อะไรได้มากน้อยอยู่บ้าง จึงจารจด ณ ที่นี่
นับแต่วันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ กิจกรรมที่เดินหน้ามาตลอดคือ ทำให้คนในชาติปรองดองด้วยวิธีต่างๆ เป็นต้นว่า นำทหารหญิงมายักย้ายส่ายสะโพก เชิญแกนนำคู่ขัดแย้งทางการเมืองมาพูดคุย และเชิญนักวิชาการมาปรึกษาหารือความกลมเกลียวของคนในชาติ แม้จะเป็นความฝันของทุกคน แต่การก้าวไปสู่ความจริงนั้น ย่อมต้องหาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งอาจหาได้จากมันสมองประชาชนทุกภาคส่วน
            ความเป็นไปได้ในการปรองดอง มองว่าเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด นั้น ผอ.สายัญ โพธิ์สุวรรณ์ โรงเรียนบ้านแม่ลิด ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน บอกว่า ผมมีหวัง พร้อมๆกับเห็นพลังที่ซ่อนอยู่และเชื่อว่า หากทุกฝ่ายช่วยกัน การสะกดคำว่าปรองดอง คงมิยากเกินไป อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาเงื่อนไขเหล่านี้ประกอบด้วย

นั่นคือ ประการแรก การปรองดองจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ มากหรือน้อย เพียงใดนั้น สิ่งสำคัญที่มิควรมองข้าม คือการทำความเข้าใจ สภาพของสังคมไทยโดยรวมร่วมกันให้ชัดเสียก่อนว่า วันนี้เราป่วยด้วยโรคอะไร การหยุดยืนและให้สังคมถามตนเองว่าเป็นอะไรนั้น นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของกระบวนการปรองดอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ เรามีปัญหาซ้อนซับหลายอย่าง เกิดจากหลายปัจจัย และเกี่ยวเนื่องโยงใย แยกขาดจากกันมิได้ การรู้จุดปัญหาและลำดับความสำคัญ รวมถึงธงหมายที่ต้องการจะปัก จึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยส่วนตัวเห็นว่าแก่นปัญหา น่าจะเป็นความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดของผู้คนเป็นสำคัญ ซึ่งระดับความเห็นต่างดังกล่าว ได้ถ่างห่างและขยายวงกว้างมากขึ้นจนสังคมเสียการทรงตัว
              ประการที่สอง เห็นและเข้าใจว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของสังคมที่กำลังวิ่งหาจุดสมดุลให้ตนเอง เพราะขณะที่เราแสดงออกทางการเมืองกลางถนน ก็มีชาติชนอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน เดินขบวนสร้างสมดุลให้บ้านเมืองเช่นกัน การมองวิกฤติให้เป็นโอกาสเช่นนี้ จะช่วยให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้น อย่าลืมว่า เราสั่งสมปัญหามาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งอาจทำให้บางคนรู้สึกเบื่อ หมดหวัง ท้อแท้ การสร้างความหวังที่เป็นไปได้และให้กำลังใจแก่กันจึงสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสในการสร้างฐานสังคมที่สมดุลยั่งยืนในอนาคต ดีกว่าซ้ำเติมและก่นด่ากันไป ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร

เพราะการเห็น เข้าใจ และยอมรับความจริง ดังกล่าวเป็นหลัก การพื้นฐานทั่วไป ซึ่งออกจะนามธรรม แต่หากอยากเห็น จับต้องความสำเร็จ ก็ต้องมิควรมองข้าม เพราะเส้นทางปรองดองที่ยาวไกล จำเป็นต้องเริ่มเดินจากก้าวแรกเสมอ
             รูปแบบการปรองดอง ควรจะออกมาอย่างไรนั้น อาจารย์บอกว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า ปัญหาครั้งนี้เกิดจากการเสียสมดุลของภาคการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ฯลฯ ดังนั้น แนวทางการสร้างความปรองดองนอกจากกลับไปตั้งหลักดังเงื่อนไขที่ได้กล่าว พร้อมตั้งคณะทำงานระดับต่างๆร่วมสืบสาวต้นตอของวิกฤติ ประมวล วางแผนร่วมกัน และให้ทำโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ปรับแก้ฐานต่างๆให้เกิดสมดุล

              เป็นต้นว่า 1.ต้องปรับวิธีคิดแยกส่วน เพิ่มวิธีคิดแบบองค์รวมให้มากยิ่งขึ้น วิกฤติของสังคมส่วนหนึ่งมาจากปัญหาวิธีคิดแยกส่วน การชั่วไม่มีดี ขาวไม่มีดำ และมองไม่เห็นพลวัตที่เกี่ยวเนื่องโยงกระทบต่อกันทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ชาวบ้านปลูกผักมุ่งขายทำกำไร แต่ไม่เคยใส่ใจสุขภาพผู้บริโภค จึงใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อให้ผักงามและขายได้ คนกิน จะเป็นอย่างไรไม่สนใจ หรือสื่อสารมวลชน นำเสนอข่าวที่บิดเบือน เลือกข้าง โดยไม่จำแนกแยกแยะเด่นด้อย และทางออกให้ผู้บริโภค มุ่งสร้าง (สื่อ) เพื่อเสพ เช่น หนังละคร เพื่อให้คนเสพสถานการณ์ เรื่องราวและตกเป็นเหยื่อพร้อมกับสร้างรายได้ แต่ขาดสำนึกในการสร้างสื่อเพื่อสร้างคน เป็นต้น จึงเห็นความคิดเว้าโหว่บางจุด เช่น ตัวเอกในเรื่อง มีแต่ด้านดีไม่มีเสีย ขณะตัวร้าย ก็ร้ายตลอดเรื่องไม่มีดี ซึ่งผิดวิสัยวิถีของความเป็นมนุษย์ แต่เราก็ยังสร้างกันอยู่ ดังนั้น รูปแบบการเพิ่มวิธีคิดแบบองค์รวม จึง ต้องเริ่มจากประชาคมเหล่านี้ ชาวบ้าน ภาคราชการ นักวิชาการ สื่อสารมวลชน ภาคธุรกิจ ให้มีฐานคิดร่วมกัน มองความเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกันพร้อมรับผิดชอบผลที่เกิดร่วมกัน

2.ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและเพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพิ่มภาษีคนรวยช่วยคนจน คงไว้ประชานิยมเฉพาะที่สำคัญ จำเป็น ทั่วถึง และยกเลิกบางรายการที่ใช้หาเสียง

3.ลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจชุมชนอย่างแท้จริงในการจัดการตนเอง เช่นสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า วางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับระบบตลาด มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ฯลฯ เพิ่มมิติแนวราบในการบริหารจัดการตนเองโดยภาคประชาคม

4.ลดการเมืองแบบผู้แทน เพิ่มการเมืองภาคประชาชน เพิ่มความเข้าใจและยอมรับประชาธิปไตยในหลายมิติ ให้มากกว่าเสียงข้างมากหรือการเข้าใจเพียงการเลือกตั้ง เช่น การทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ผู้แทนพื้นที่ บุคคลสาธารณะ การตรวจสอบและรับผิดชอบทางการเมือง เป็นต้น

5.ลดรูปแบบที่เทอะทะ เพิ่มเนื้อหาที่แม่นตรงต่อการมีอยู่และเป็นไป ทั้งในระดับปัจเจกและสังคม

ดังนั้น การปรองดอง จึงไม่ใช่เพียงรูปแบบของการร้องเพลง ตัดผม กินกล้วย จับมือ สาบานตน แต่ต้องเข้าถึงแก่นรวมร่วมกัน

นอกจากนั้นควรลดการสร้างวาทกรรมที่นำไปสู่วิกฤติหรือข้อขัดแย้ง ลดระบบอุปถัมภ์ เพิ่มการยอมรับความสามารถและความดี เพื่อให้เกิดมิติใหม่ทางสังคม แก้ปัญหารากหญ้า เริ่มที่ปากท้องของชาวบ้านผ่านระบบการผลิตที่ยั่งยืนของชุมชน ปฏิรูปการเรียนรู้ การศึกษาเพื่อการสร้างสำนึกใหม่ อภิวัฒน์จากภายในสู่ภายนอก ของแต่ละปัจเจก ครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน สังคม เกิดการเรียนรู้ที่แม่นตรงของภาคประชาคม คืนธรรมชาติ ดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรม ที่สำคัญและให้สอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัย และคืนธรรม คืนความเป็นกลางและเป็นธรรมในทุกมิติให้กับคนในสังคม  แล้วการเมืองเราต้องอย่างไร ถึงจะมีเสถียรภาพ อาจารย์บอกว่า การเมืองที่นำไปสู่เสถียรภาพ ต้องเริ่มจากภาคประชาคม (ชาวบ้านภาคราชการ องค์กรเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน) ไม่ใช่รัฐสภา ไม่ใช่รัฐบาล แต่กลุ่มเล็กๆในชุมชนเหล่านี้ต้องเกิด จึงจะเป็นการเมืองที่เคารพ สมานฉันท์ และมุ่งประโยชน์โดยรวมได้ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ใน 2 ด้าน คือ 1.คน ต้องการสร้างสำนึกใหม่ ให้รับผิดชอบต่อส่วนรวมให้เกิดการรัก เคารพในความเป็นมนุษย์และการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ส่งเสริมให้มีจริยธรรมทางการเมือง และผู้แทนที่มีนโยบายและกระบวนทัศน์ในการพัฒนาอย่างแท้จริง

2.ระบบ ต้องปรับปรุงระบบการเป็นตัวแทนให้มีลักษณะหลายมิติ ลดการผูกขาด อย่างน้อยควรมีตัวแทนจากพื้นที่ ตัวแทนวิชาชีพ และตัวแทน เชิงนโยบายจากพรรคการเมือง ปรับปรุงระบบความชอบธรรม ระบบการ ตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง โครงสร้างระบบการเมืองไทย ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ต้องแยกจากกันมากขึ้นในแง่การทำงาน แต่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันและกันได้มากขึ้น และภาคประชาชนสร้างระบบและโครงสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง สร้างเครือข่ายขบวนการประชาชนอย่างหลากหลาย

ข้อที่ควรจะขจัดไปจากการเมือง เพื่อให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น อาจารย์บอกว่า ต้องขจัดเรื่อง การเมืองเรื่องผลประโยชน์ส่วน ตน ธุรกิจการเมือง และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า อำนาจการปกครองที่แท้จริงเป็นของประชาชน”.
 
 
ขอบคุณ คุณสัจภูมิ ละออ  ผู้สื่อข่าว สกรุ๊ปหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ ที่ 13 มิถุนายน 2557 หน้า 5 รายละเอียดอ้างอิงจาก http://www.thairath.co.th/content/428981

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทัศนาคนสันภู

.......ท่ามลานหิน บนดอยสูง เราคุยกันหลายเรื่อง ได้มุมหลายรส ทุกคำถามล้วนสำคัญกว่าคำตอบ ซึ่งคำตอบที่เอื้อนเอ่ย ล้วนมาจากคำถามที่ปลุกเร้าและทรงพลัง  กระนั้นคำตอบ ก็เป็นได้เพียงบางมุมที่สะท้อน เป็นเพียงบางมุมที่เอื้อนเอ่ย ตอบในมุมของคนสันภู คนเล็กๆ คนหนึ่งเท่านั้น หาใช่คำตอบโดยรวมไม่

มีแรงบันดาลใจอะไรจึงมาเลือกวิชาชีพครู
          ทุกอาชีพ มี ธง ในการทำงาน คล้ายๆกัน คือ สุข และ สำเร็จ  หากจะต่าง ก็ต่างกันตรง ทาง สู่ สุขและสำเร็จ และจะเรียงลำดับ สุขหรือสำเร็จ นำหน้าก่อนหรือหลัง 
          ผมเลือกอาชีพ ครู เพราะ สร้าง สุข ได้ง่าย เพียงเห็นไรฟันและเสียงฮาเฮ ของเด็กๆ ก็สุขแล้ว นี่คือแรงบันดาลใจ ฟังดูอาจคล้ายนางสาวไทยตอบคำถามกรรมการประกวดฯ นะครับ แต่ผมว่ามันต่างกันนะ

เป็นครูมากี่ปีและมีความรู้สึกอย่างไร
          23 พฤษภา ที่ผ่านมา ครบ 14 ปีเต็ม  .....ความรู้สึกนั้น คงไม่เกินไป หากจะบอกว่า 90% เป็นความสุขและพลัง ....สุขและพลังที่ได้เรียนรู้ ไปพร้อมๆกับผู้อื่น  

ทำไมจึงต้อง ..."ดอย"
          มีเพลงบทหนึ่ง ซึ่งร้องจากเสียงภายในของเด็กน้อยและผู้ขาดโอกาส ...แต้มวาดลีลาคีตการ ...ขมขื่น กระซิบให้เราได้ยินว่า เขาไม่ต้องการอะไร ...สิ่งที่อยากได้  ...ครูและหมอ สักคนดีดี แก้วแหวนมณี ฉันไม่ต้องการ แก้วแหวนมณี ฉันไม่ต้องการ

 ความต่างระหว่าง โรงเรียนบนดอยกับเมือง
           บนดอย ...ท้าท้ายกว่า ...ใจพองโตกว่า ...ตื่นเต้นกว่า เพราะต้องทำงานบนความขาดแคลน ขณะที่เมือง เขาคุยเรื่อง management  บนดอยยังคุย เรื่อง Material อยู่   .... ธง ก็ได้ปักหมุดหมายไว้แล้วว่า เด็กๆทุกคน บนผืนดินไทย ควรมีความเสมอภาคกัน เสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงการมีคุณภาพ พวกเราทุกคน จึงต้อง เร่งสร้าง เร่งทำ เพื่อให้ ธง นั้นแจ่มชัดขึ้น ไม่มีเวลาท้อ  ล้า นี่คือนิยามความต่างของผม...

 ปัญหาการศึกษา
          ไม่อยากมองว่า สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ ปัญหา อยากให้มองว่า นี่คือโอกาสในการพัฒนามากกว่า เราจัดการศึกษาต่อเนื่อง มาหลายปี มันต้องมีพัฒนาการบ้าง อย่างน้อย ก็ไม่ได้อยู่จุดเดิม หากเห็นว่า ยังคงเดิม ต้องตรวจสอบฐานคิดของเราใหม่ เพราะความเข้าใจ สำหรับผม การศึกษา คือกระบวนการพัฒนานั่นเอง.....
          แน่นอน ระหว่าง ทาง สู่ ธง คุณภาพนั้น ย่อมมีอุปสรรค รายทางบ้าง เป็นธรรมดา แต่หากคิดว่า นี่คือการเรียนรู้ รู้ที่จะเรียนและปรับประยุกต์ ผมว่า การศึกษาได้ทำให้เกิดการพัฒนาแล้ว มองแบบนี้จะไม่มีปัญหาครับ


บางส่วน ในการให้สัมภาษณ์ประกอบหนังสือ ของคุณ นพพร อินสว่าง
CEO นาโฮแกนิก ณ โรงเรียนบ้านแม่ลิด
13 มิถุนายน 2557