วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ความหมายหลังคำตอบ

ในวันจันทร์ที่ผ่านมา น้องในโรงเรียนได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตัดสินงานศิลปหัตถกรรม 3 คน
ผู้จัดได้เชิญประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินการในวันถัดมา
แต่ทั้ง 3 ไม่ได้ไป และมีความกังวลใจ เลยถามผมว่า จะทำอย่างไรดี

ถ้าไม่ได้ประสาน อาจลองสอบถามดูว่าเพราะอะไร หากไม่มีเหตุผลพอรับฟังได้ ก็แสดงว่าเขาไม่เห็นคุณค่าของเราหรืองานที่จะทำสักเท่าไร คำตอบตรงนี้ง่ายมากต่อการตัดสินใจและคลายกังวล และถ้าเป็นผม ผมรู้จะทำอย่างไร

ขณะเดียวกัน 
ถ้าหน่วยจัด ได้ขอหรือบอกกล่าวให้เราทราบล่วงหน้าแล้ว แต่เป็นเจ้าตัวเองที่ไม่ได้แจ้งโรงเรียน 
ตรงนี้ก็ยิ่งง่าย เพราะรู้แก่ใจว่าเหตุแห่งความกังวลใจ อยู่ตรงไหน ก็ต้องแก้ตรงนั้น ส่วนจะไปหรือไม่ นั่นอีกประเด็น ซึ่งมีประเด็นที่ต้องมาว่ากันอีกที

งานนี้จัดเพื่ออะไร?  คำถามใหญ่ ที่ผมเองก็ยิงใส่ตนเอง
ตัววัดว่าสำเร็จคืออะไร?
คุณค่าแท้อยู่ตรงไหน? 
ดีกว่านี้ มีอีกไหม?
เราจะอยู่หรือไปร่วมงานในฐานะใด?
ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อใคร แค่ไหน?
แล้วไปถึงแก่นเชิงคุณค่าแท้นั้นจริงๆ รึเปล่า?

ทั้งหมด ตั้งคำถามเล่นๆ กับตนเองและถือโอกาสชวนคุยประกอบการตัดสินใจของน้องพี่

บอกเหตุผลมาสิ
ถ้าไปจะเกิดประโยชน์อะไรกับใคร?
และไม่ไป จะเกิดคุณค่าอะไร อย่างไร?
แต่ละคนยิ้มและหงึกหัว
เราเองก็ไม่ได้ห้าม ไม่โกรธ พร้อมรับฟังทุกๆคำตอบและการตัดสินใจของน้องๆ

พอโยนการตัดสินใจคืนไปให้เจ้าตัว
ย่อมสร้างความอึดอัดบ้าง เพราะส่วนใหญ่ 
เราเคยแต่ "สั่งมาเลย"  "บอกมาเลย จะให้ทำอะไร"
กระวนกระวายใจ จึงปรากฎแก่เจ้าตัวพอสมควร

แน่นอน เพราะมีสิ่งเกี่ยวเกาะ ผ่านความคิด ความเชื่อและพิธีกรรมเดิมๆ อยู่
ครั้นจะยกเลิก เซ็ทความคิด ความเชื่อชุดใหม่ จึงไม่ง่ายอย่างที่คิด

"เขาจะไม่ว่าเราหรือ?"
"คำสั่งก็มี แต่เราไม่ร่วมไม่ทำกับเขา แล้วจะ...."
"เกรงใจเหมือนกันนะ กลัวเขาว่า.."
"ทุกโรง(เรียน)มากันหมดเลย"
"จัดบูธอลังการมาก"
"สุดยอดเลย โรงเรียนเพื่อนหนูได้ไปต่อ (ระดับภาค)"
"เราไม่ไปตอนย้ายจะใช้อะไรประกอบ"

เห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกที่ตีเต้นเข้นบีบในใจของพี่น้องทุกคน

งานหนึ่งของผมคือ ต้องเขย่าพวกเขา 
เขย่าและเข้าโจมตี ความเชื่อ ความคิดเดิมให้เสียดุล 
พวกเขาจะเริ่มเขว รวน  เป๋ 
อาการเป๋นี้ คือโอกาส ที่จะทำให้แต่ละคน ดีดดึ๋งดึงตนกลับเข้าสู่ปกติ อีกครั้ง 

การดีดกลับสู่สมดุล คือกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมาย 
ช่วงนี้โหมดรู้ตัวและใคร่ครวญจะทำงานหนักมาก
เขาจะคุยกับใคร ถ้าไม่ถกกับตนเอง เอายังไงดีว่ะ ฯลฯ


หลังเขย่าแล้ว 
งานหนึ่งคือเฝ้าดูปรากฏการณ์
บางคำตอบ กระทำ หรืิอตัดสินใจ ได้บอกโจทย์พัฒนารอบใหม่ให้เรา 
สิ่งหนึ่งที่ต้องหยัดและมี คือ ยืนระยะรอบให้ได้ 
และบอกตัวเองว่า รอคอยได้ ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร 

คำตอบจึงไม่ได้อยู่ที่ Yes หรือ No เพราะตรรกะหลังนั้น สำคัญกว่า
พี่น้องจะไปหรือไม่ จึงไม่ได้มีผลต่อความรู้สึก
คำอธิบายลุ่มลึก เพราะอะไร อย่างไร หลังใคร่ครวญอย่างดีแล้วนั้นต่างหาก คือคุณค่า

ในถังขยะ อาจซ่อนปรัชญาความเข้าใจแห่งอาณาจักรของชีวิต ก็เป็นได้ 
ใครจะเข้าไปแตะถึงสภาวะในนั้นล่ะ ถ้าไม่ใช่ตัวเจ้าของเอง
ผมได้แต่แอบยิ้มอิ่ม ลึกๆ อยู่หลังบูธงานฯ

เราต่างเดินทางเรียนรู้กันและกัน

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ถนนมิตรภาพ

"เก่ง" เจ้าของ "ร้านกาแฟกุ๊บลายข่าน"   
ริมทาง 108  ซ้ายมือลงดอยผาบ่อง ก่อนเข้าเมืองแม่ฮ่องสอน 
คุยอย่างออกรส แก่ผู้มาเยือน

"... คนทุกวันนี้ ถูกใส่โปรแกรมให้เป็นหุ่นในเวลาทำงาน เช่น เป็นพัดลม ก็จะเป็นแค่พัดลม จะไม่เป็นอย่างอื่น ไม่ทำอย่างอื่น ..."

"...ทำตามหน้าที่แล้ว ก็อยากได้ค่าตอบแทน..."

แต่ในมุมสำหรับ "เขา" กลับมองว่างานที่ทำ มีความหมายมากกว่านั้น นิยามสั้นๆ แต่บาดลึกถึงเนื้อในคือ  

"งาน คือ ความสุข" 

ช่วงก่อน เขาจับเรื่องพันธุ์ไม้กล้าไม้
แหละไม่กี่ปีผ่านมา ก็เล่นกาแฟและร้านอาหาร ใช้บรรยากาศริมธาร ตกแต่งร้านจนเป็นออร์เดิร์ฟ เสิร์ฟต้อนผู้มาเยือน 

กระท่อมไม้ไผ่ มุงใบตองตึง รูปทรงสไตล์ไทยใหญ่ คือความแปลกใหม่ สะดุดตา แก่ผู้ผ่านไปผ่านมา โดยเฉพาะคนเมืองที่ไม่มีโอกาสได้เห็น ขณะเดียวกัน ก็ขุดต่อมสืบสานในสายธารสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมเก่าก่อนได้ไม่น้อย 

ช่วงฤดูหนาว จึงคราคร่ำไปด้วยลูกค้า จอดรถราเต็มข้างทาง เพื่อจิบและดื่มบรรยากาศบ้านๆ แบบนั้น กาน้ำร้อนที่กำลังตั้งเตา ไอพวยสายพุ่งออกจากปากกาต้ม คละคลุ้งควันไฟลอยอ้อยอิ่งลามเลียใบตองมุงหลังคา นับเป็นภาพโอชาในอารมณ์อยู่ไม่น้อย นี่คือยาแก้เบื่อและเมาเมือง ซึ่งผู้คนเลือกเสพดื่ม

ผมว่าจะดื่มกาแฟและน้ำชา สักถ้วย เขาก็รีบชิงพูดขึ้น

"ช่วงนี้ผมไม่ได้ขายครับ"

พลางผายมือ ให้ดูแปลงกล้าไม้ต่างๆ รวมถึงบ่อเลี้ยงกบและพันธุ์ปลา ซึ่งมีหลายบ่อ ซ่อนผสานอยู่ในเนื้อร้านเป็นที่จุดๆ กำลังจะลงตัว และนี่คือเหตุผลว่า เขาหยุดอะไร เพื่ออะไร

"คนทุกวันนี้ ไม่ได้ทำงานเพื่อเรียนรู้ แต่ทำตามหน้าที่ เพื่อรับเงิน"

เขาคุยถึงสิ่งที่พานพบ และนี่น่าจะเป็นสัจจะแห่งยุคสมัยตอกย้ำความเป็นหุ่นไขลานของผู้คน อีกครั้ง

ผิดที่มีคนแบบเขา หรือ ผิดที่คนเราย้ายคิดอ่านไปงานเพียงเพื่อรายได้ จนลืมความหมายหลายอย่าง 
แม้แต่ความสุข ดังที่เขาเห็นและกำลังเป็นให้ดู

"ไม่สุข จะทำทำไม"

เราทำอะไรเยอะ แต่ขาดตลาด ขาดประชาสัมพันธ์ 

"มีท่อรายได้ เช่น ขายกาแฟ เงินเข้า เป็นรายได้ จ่ายออก เป็นค่าของ ค่าคนงาน ก็เป็นรายจ่าย ท่อนี้ ทำยังไงก็ไม่ได้"
"ต้องมีวาล์ว เงินเข้าเป็นรายได้ ขณะเดียวกัน ต้องปิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น"


เขาปิดร้านในช่วงที่ไม่มีคน แล้วให้คนงาน กลับไปทำสวนในที่ทางของใครของมัน โดยเขาเป็นหุ้นส่วน เมื่อได้ผลผลิต เขาจะรับซื้อในราคายุติธรรม ได้เท่าไร หักใช้จ่าย แล้วแบ่งปันกันตามกติกา
คราวหน้างานมาถึง คนงานก็กลับเข้ามาทำงานในร้าน กินค่าแรงปกติ พืชที่เล่นกันมีหลายอย่าง แต่ที่ปลูกมากคือ กาแฟ ตอนนี้กำลังกระจายพันธุ์ปลาสู่ลูกสวน  

นอกจากวิธีคิดที่เขาออกแบบจนชัดในหัวแล้ว เขายังมีวิธีจัดการกับความคิดเป็นเนื้องาน อย่างน่าสน ตัวอย่างที่ยืนยันว่า ทุกอย่างกำลังเดินได้ คือ การเติบโต ของร้าน ทุกทิศทาง ไปไม่ได้ ร้านคงโตไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่

หลายปีมาแล้ว เขารู้ว่าผมจะไปอีสาน เลยฝากน้ำผึ้งป่าให้ไปถวายพ่อแม่ครูอาจารย์จำนวนหนึ่ง ฝากต้นมหาพรหมราชินีและไผ่ดำอินโด ให้มาปลูกที่สวนนาสีรุ้งงาม ตอนนี้ ไม้เหล่านั้นกำลังโตงาม เขาไม่ได้ตักตวง หน่วงกัก หากพอมีพื้นที่ ก็สร้างทำ เกี่ยวเก็บ สมควรก็แบ่งปัน ไม่ขาด แต่ก็ไม่พร่ำเพรื่อ

วันนี้ ท่อรายได้ที่เขาวางไว้ มองเห็นกำไรที่ชัดมากในอนาคต 
คุยกันอย่างออกรส หมดบุหรี่ไปหลายมวน
ปกติเขาสูบวันละซอง วันนี้มีความสุข ที่ได้แลกเปลี่ยน เคยสูบติดกันสามสี่มวน

ใช่อย่างเขาว่า "ไม่สุข จะทำไปทำไม"

ผมขอตัวออกจากร้าน วันหลังจะไปเยือนอีกแน่นอน