วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สุขาสติ

 ต้นฝนปีที่แล้ว พวกเราช่วยกันขุดดินเตรียมพื้นที่เพื่อสร้างห้องน้ำ แรงงานเริ่มต้นคือครูชาย 6 คน (รวมครูภารโรง) หลังจากนั้น ทุกๆวันจันทร์ พี่น้องชาวบ้านจะมาช่วยเป็นระยะ เราเลืิอกลงห้องน้ำด้านข้างทางหน้าอาคารเรียน เป็นจุดที่ใกล้สำหรับเด็กๆ และมีพื้นที่เหลือ ซึ่งต่อมา ได้สร้างเป็นอาคารโดม  


ช่วงเวลาที่ขุดปรับที่ ฝนตกเกือบทุกวัน ทำให้ดินนุ่มอ่อน บางจุดถึงกับเละ ขุดไปเปียกไป ทั้งเหงื่อไคลและจากฝนฝอย  เหนื่อยไม่น้อยแต่ก็สนุก ขุดก่นกันอยู่เกือบอาทิตย์ จึงได้วางผัง เทคาน และเริ่มก่อ 


ดินที่นี่ ถ้าถูกแดดและลองได้แห้งสักเดือน จะแข็ง ขุดยากมาก  พ่อหลวงเคยบอกในที่ประชุมว่า หน้าฝน ถ้ามีงานขุดดินให้รีบทำ เพราะดินนุ่ม ก่นง่าย แต่ถ้าแห้งแล้วจะขุดยาก แรกๆ ผมก็นึกไม่ออกว่า ดินจะแข็งได้เร็วขนาดนั้น พอเวลาผ่านไป จึงเข้าใจในสิ่งที่ท่านผู้นำบอก


ห้องส้วมหลังนี้ มี 6 ห้อง แต่ละห้องย่อส่วนเป็นขนาดที่พอเหมาะกับอนุบาล มีประตูเตี้ยๆ พอพ้นห้วเด็กได้ หากผู้ใหญ่เข้าไป ต้องก้มเป็นปลาทูคอหัก จึงจะหวิดจากอาการหัวโน ผนังระหว่างห้อง ก็ไม่ก่อปิดจนทึบ ทั้งนี้ เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย แถมยังเปิดห้องให้มีแสงและอากาศถ่ายเทได้อีกด้วย ดังนั้น เมื่อทำธุระอยู่ห้องหนึ่ง ห้องข้างๆ จึงรู้ถึงความเคลื่อนไหว  นี่จึงเป็นส้วมถานที่ฝึกสติจริงอีกแบบหนึ่ง   5555


ด้านหลังส้วมติดกับแนวรั้วของชาวบ้าน ซึ่งมีน้ำเสียจากการล้าง ซัก  อาบ ไหลลงมาเป็นประจำ เราเองก็ลืมนึกไปว่า น้ำที่ไหลมา จะมีปัญหาต่อระบบระบาย ในภายหลัง ซึ่งต่อมาก็ทำให้ท่อไม่ระบายจริงๆ เพราะน้ำซึมเข้าจนเกือบเต็มหลุมก่อนจะลงบ่อส้วมเสียด้วยซ้ำ  ทว่างานเดินหน้าแล้ว ต้องปรับแก้กันไป เล็กๆน้อยๆ เราไม่ถอย


ก่อนหนาวจะมาถึง ห้องน้ำหลังนี้ก็เสร็จได้ใช้งาน  ความภูมิใจของพวกเราคือ ได้สร้างทำร่วมกัน เป็นพลังเล็กๆ ของพี่น้องครูชาย โดยมีชาวบ้านมาช่วยเป็นระยะ ทุกครั้งที่เข้าใช้ จะเห็นเหงื่อไคลในวันวานเปียกโชกอยู่ในนั้น แม้อาจจะไม่ใช่ห้องน้ำที่สวยเลิศหรู แต่ทั้งหมด ก็งามในความเป็นเราที่ได้สร้างทำ จะมีห้องส้วมสักกี่หลังกัน ที่ได้เห็นรอยยิ้มตลอดทางของความเป็นมา ส้วมแห่งยิ้ม ส้วมแห่งพลังของผองเรา ที่สำคัญยังเป็นส้วมที่เผลอไม่ได้ ต้องเจริญสติ ตลอดกว่าภารกิจจะล่วงลุ อิอิ    




วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ล้อมวงอ่านรากฐานอภิวัฒน์ไทย


 6-8  พฤษภาคม 2557
สสค.(ชื่อในสมัยนั้น) จัดงานใหญ่ที่อิมแพคเมืองทองธานีมีพื้นที่และห้องลานสำหรับแบ่งปันประสบการณ์ของคนการศึกษาชื่องานว่า "อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย"เป็นความพยายามของ "องค์กร" (สสค.)ที่จะขับเคลื่อนคุณภาพ "คน" ของประเทศนี้ผ่านข้อมูลสารสนเทศผลักดันสู่กระบวนทัศน์ใหม่ให้น้ำหนักกับการศึกษาเชิงพื้นที่มุ่งตอบ "โอกาส" ของคนทุกกลุ่มเป้าหมาย

ในงานและเนื้องาน มีคำหลักที่มักคุ้นหู เช่น"กระบวนทัศน์ใหม่" "เรียนรู้" "สัมมาชีพ" " โอกาส" "ทักษะในศตวรรษที่ 21" "การศึกษาเชิงพื้นที่" "ปฐมวัย" "การอ่าน" ฯลฯ  เป็นตัวเดิน ซึ่งเชื่อว่า กระตุ้นและส่งผลต่อคนที่ใฝ่แสวงในตอนนั้น อยู่ไม่น้อย

ผ่านมา ปี 2561 ช่วงวันและเดือนเดียวกันที่ #สถานีไทยพีบีเอส เกิดการรวมตัวกันของภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือ THAILAND EDUCATION PARTNERSHIP ในงาน "TEP FORUM 2018" ภายใต้แนวคิด ถึงเวลาเปลี่ยนการศึกษาไทย เพราะการสร้างการศึกษาที่ดี เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน มีคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน "TEP" ซึ่งในงานท่านได้กล่าวว่า 

"อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง จงมีความสนุกกับการเปลี่ยนแปลง" 
ภาพภาคีชัดขึ้น มีโรงเรียนเป็นเวทีใช้และพัฒนานวัตกรรม

จากวันนั้น จนถึงวันนี้ยังเห็นอาการ ดิ้น ตะเกียกตะกาย ขึ้นจาก "หลุมโหล่" ของอาเซียนผ่านความพยายาม ของ องค์กร กลุ่ม ด้วย วิธี รูปแบบ และ Platform ต่างๆ อยู่ไม่น้อย รวมไปถึง การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของ กอปศ. ที่มีความเชื่อว่า หากปลด Lock กฎหมายจะคลี่คลายและสร้างคุณภาพได้  

กอปศ. พยายาม ดันกฎหมายใหญ่หลายฉบับ เช่น  "พ.ร.บ.ครูใหญ่" แต่ก็อย่างที่ทราบ ไม่ทันได้ใหญ่ ต้องมีอันเป็นไปก่อนล่ะ ด้วยการ สกัดจุดต่ำ ตัวเองของ ครม. 

แน่นอน พ.ร.บ. ครูใหญ่ เลยมีอันเป็นหมันไป (ทั้งที่ไส้ใน มีสาระสำคัญต่อการเคลื่อนขับคุณภาพอยู่ไม่น้อย) ขณะพี่น้องกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรม ปฐมวัย กระทรวงใหม่  กองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา ไปทาแป้งแต่งหน้ารอแล้ว  นั่นก็คือรอยก้าวของที่ผ่านมา

นับถึงพฤษภาคม 2562
ก็ 5 ปี พอดี หลายคนค่อนขอดว่า ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น ออกจะย่ำและถอยหลังเสียอีกแต่ในทัศนะครูดอยอย่างผมแล้วกลับเห็นว่า เวลาที่ผ่านมา การศึกษา ได้มีลำดับพัฒนาการของมันมาโดยตลอด แตกกิ่งก้าน สร้างการ "เรียนรู้" อยู่อย่างต่อเนื่อง
ต่อเนื่อง ผ่านความพยายาม "ปรับ" และ "เปลี่ยน
เช่น โครงสร้าง ระเบียบกฎเกณฑ์ ฯลฯซึ่งถ้าไม่เปลี่ยน เราจะไม่มีวันได้เห็น กองทุนความเสมอภาคหากไม่เปลี่ยน จะไม่เห็นการขึ้นโจทย์จาก Area Base ใช้จังหวัดพัฒนาตนนาม "พื้นที่นวัตกรรม" มีพี่เลี้ยงจากภาคี เข้าช่วยเหลือเกื้อกัน
หากไม่เปลี่ยน คงไม่เห็นการตื่นตัวและจัดกิจกรรมในรูป Active มากขึ้นของโรงเรียนและหากไม่เปลี่ยน คงไม่เห็น Sand Box ที่พร้อมจะล้มในพื้นที่สุ่มเสี่ยงและเสียหายน้อยได้ 

จึงเป็น 5 ปี ที่ความพยายามเห็นดอกผลอยู่บ้าง แม้จะเป็นผลพวงมาจาก การเคลื่อนโดย องค์กรและภาคีข้างนอก มากกว่าเจ้าภาพหลักใน อย่างกระทรวงศึกษา ก็ตามที

ความจริงแล้วท่ามกลางเสียงก่นด่า หรือท้อแท้ หมดหวัง
กลับมี องค์กร กลุ่ม โรงเรียน หรือ คนต้นแบบ กลุ่มเล็กๆ ที่ไม่หยุดสร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ อยู่ทั่วประเทศ 

หลายแห่ง ได้กลายเป็นศูนย์กลาง กระจายนวัตกรรมสู่ Node ขยายผลสู่ โรงเรียน ครู ที่สนใจมากมายและต่อเนื่อง เช่น ร.ร.ลำปลายมาศพัฒนา ร.ร.รุ่งอรุณ สถาบันอาศรมศิลป์นวัตกรรม BBL, Open Approach ร.ร.เพลินพัฒนา ร.ร. มีชัยพัฒนา  โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (สกว.) ฯลฯ แม้แต่โรงเรียนพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (sQip) ของ กสศ. ก็ขึ้นโครงเชิงระบบได้อย่างน่าสน เหลือเพียงใส่ App ใหม่ ตามบริบทใช้งาน ก็จะตอบคำว่า "เรียนรู้" ได้ "อภิ" ยิ่งขึ้น

เหล่านวัตกรและนวัตกรรมขององค์กรหมู่นี้
มุ่งชี้ไปที่คำว่า คุณภาพครู คือ คุณภาพคน (ผู้เรียน)
ครูที่มี "ของ" หรือ "ทุน" จะสร้างการเรียนรู้ที่ดีได้จะมีได้ ต้องลึกลงไปถึงระดับ "Mindset" ทีเดียวเพราะ เทคนิค วิธี กระบวนการ ผุดผ่านจาก ฐานจิต ถ้าต่อมจิตวิญญาณทำงานแรงขวนขวายใฝ่สร้าง จะจับมีดแผ้วถางทำทางเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองเราจึงเห็นคนในองค์กรเหล่านี้ ที่เปลี่ยนแล้ว มีพลังไม่หยุดหย่อน สร้างสรรค์ตลอดมา ทว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ กลับยังเคลื่อนกันไม่ได้ไปไม่ถึง ระดับ Mindset ขยับ ย้าย ความเชื่อ โลกทัศน์ จากแกนอ้างอิงเดิม ดูเหมือนยังแข็งโป๊ก (Fixed)

แม้ที่ผ่านมา หน่วยเหนือ ก็พยายามโดยใช้งบประมาณลงไปอบรมครูแต่ก็ทำได้เพียงพัฒนา "เทคนิค" "วิธีการจัดการเรียนรู้" หรือ สร้างความตระหนักชั่วคราว

ครั้นกลับที่ตั้ง 
ตัวตนไม่ยืนระยะ ขณะระบบและสิ่งแวดล้อม ในองค์กรเดิม 
ไม่รองรับ  อบรมกันมา ก็ไปไม่ถึง เปลี่ยนใหม่  
ทำได้แค่ "รับหลักการ" แต่พอ "ปฏิบัติการ" ซึ่งพื้นที่ไม่มีสัพปายะและกัลยาณมิตรรองรับ ก็ตีบตัน ในที่สุด แต่ละคน ก็หลบเข้าเงียบ 
เก็บตัวไว้ในพื้นที่ปลอดภัย ภาพการเปลี่ยน จึง ผลุบๆ โผล่ๆ ผีเข้าผีออก ไม่เสถียร เพราะไม่ได้เปลี่ยนจากข้างใน จนกลายเป็น เปลี่ยนทั้งเนื้อทั้งตัว” อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม
ไม่ได้หมายความว่า การพัฒนา เทคนิค วิธี ที่เป็นอยู่ไม่ดีนะ 
จะได้ผลและดีกว่า ถ้าทุกการลงทะเบียนพัฒนา พาไปสะเทือนถึงต่อมข้างใน
ขณะเดียวกัน มดลูกก็ต้องสร้างอู่รอรับการฝังตัวของทารก  ด้วย


ประเด็นหนึ่งใน "งานอภิวัฒน์ฯ"
ได้พูดถึง การอ่าน ว่าเป็น ประตูใหญ่สู่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต
ตอนแรก ๆ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่น่าสลักสำคัญอะไร
แต่แล้ว ความเห็นก็เปลี่ยนไป 
เพราะ 5 ปีมานี้ ได้สังเกตเห็นคนที่ เปลี่ยนตน ได้มากยิ่งขึ้น พบว่าแต่ละคนเหล่านั้น ล้วนมีแกนร่วมสำคัญ มาจาก การอ่าน

อ่านจนเปลี่ยนพฤติกรรม จิต และปัญญา 
มีท่าทีต่อตน คนอื่น สรรพสิ่ง และโลกใหม่ในทางที่ดีขึ้น

การอ่าน ที่ว่า ไม่ใช่แค่ อ่านออกเขียนได้
ไม่ใช่วิชาภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ติด Grammar หรือข้องคาศัพท์แสงแต่เป็นการอ่าน ต่อ สิ่งแวดล้อม ที่มา สัมผัสสัมพันธ์ แล้วน้อมเข้าสู่ กระบวนการภายใน เพื่อเข้าถึง ความจริง และมีความหมายเชิงคุณค่า


ตลอดเวลา ๕ ปี จึงทำให้มีความเชื่อใหม่ว่า
การอ่าน คือ จุดเปลี่ยน เปลี่ยนสู่ การเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง
หากถามว่า สิ่งที่จะทำให้เกิดการ อภิวัฒน์  คืออะไร?
ตอบอย่างไม่ลังเล คือ การอ่าน เพราะกระบวนการอ่าน ที่ดี จะลงลึกถึง Mindset แล้วสะสมพลังงานไปสู่การเปลี่ยนครั้งใหญ่ แบบ ทั้งเนื้อทั้งตัว” ของคนนั้นๆ

ร่ายมาซะยาว เพียงอยากบอกว่าองค์กร ภาคี กลุ่ม โรงเรียน คนต้นแบบ ที่ขับเคลื่อนการศึกษา ยังมีและยังคงเดินทางอย่างต่อเนื่องอยากให้กำลังใจและเป็นส่วนหนึ่ง ในบริบทที่เราทำได้ (หนึ่ง)

ลึกลงไป คนเหล่านั้น เริ่มถางทางสร้างโอกาส จากนาสวนผืนเล็กๆ ของตนพัฒนายกระดับคุณค่าแห่งตนด้วยนวัตกรรม ซึ่ง Key success ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนในระดับบุคคล องค์กร สู่สังคม จนอภิวัฒน์ได้เหตุปัจจัยซ่อนลึกอยู่ใต้ฐานของโครงสร้างประเทศไทย คือการอ่าน (สอง)
ที่สำคัญ คนต้นแบบ องค์กร ภาคี ทั้งหลาย ล้วนเป็นนักอ่าน (สาม)

สำหรับคนสันภูอย่างพวกเราแล้ว
แม้จะยังไม่ได้เป็นต้นแบบอะไร แต่ก็พยายามเดิน เดิน ด้วยก้าวของเราเอง นั่งลงเงียบๆ สักที่หนึ่ง ในสวนและป่า พูดคุยผ่านกระบวนการเล็กๆ ของโลกอักษร ห้อมล้อมด้วยรู้สึกรู้สาละเอียดและสั่นสะเทือน ปลุกพลังและมีความสุข ตลอดจน สนุกกับนาวาการเปลี่ยนแปลง
ใน ล้อมวงอ่านข้ามภูดอย



เป็นความพยายาม จากพื้นที่น้อยๆ  ของคนกลุ่มน้อยๆ กับหนังสือเล่มน้อยๆ 
มีใบสัก ยอดหญ้า หินผา กาแฟ ผ้าทอ ขุนเขา กระเป๋าย่าม ลานโล่ง สักแห่งหนึ่ง

เพียงเชื่อว่า  การอภิวัฒน์ใหม่โดยประชาชนนั้นเกิดขึ้นได้
ทุกคนทำได้ แค่เปิดใจ เปิดปก อ่านบรรทัดใหม่ของชีวิต
จากรหัสนัยและน้อมสู่การเปลี่ยนแปลง  

5 ปีที่ผ่าน การอ่านจึงเป็นกุญแจอภิวัฒน์

พิณ คืนเพ็ญ
คืนฝนปรอย บนดอยแม่ลิด
๒๒ พ.ค. ๖๒ 

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ความหมายหลังคำตอบ

ในวันจันทร์ที่ผ่านมา น้องในโรงเรียนได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตัดสินงานศิลปหัตถกรรม 3 คน
ผู้จัดได้เชิญประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินการในวันถัดมา
แต่ทั้ง 3 ไม่ได้ไป และมีความกังวลใจ เลยถามผมว่า จะทำอย่างไรดี

ถ้าไม่ได้ประสาน อาจลองสอบถามดูว่าเพราะอะไร หากไม่มีเหตุผลพอรับฟังได้ ก็แสดงว่าเขาไม่เห็นคุณค่าของเราหรืองานที่จะทำสักเท่าไร คำตอบตรงนี้ง่ายมากต่อการตัดสินใจและคลายกังวล และถ้าเป็นผม ผมรู้จะทำอย่างไร

ขณะเดียวกัน 
ถ้าหน่วยจัด ได้ขอหรือบอกกล่าวให้เราทราบล่วงหน้าแล้ว แต่เป็นเจ้าตัวเองที่ไม่ได้แจ้งโรงเรียน 
ตรงนี้ก็ยิ่งง่าย เพราะรู้แก่ใจว่าเหตุแห่งความกังวลใจ อยู่ตรงไหน ก็ต้องแก้ตรงนั้น ส่วนจะไปหรือไม่ นั่นอีกประเด็น ซึ่งมีประเด็นที่ต้องมาว่ากันอีกที

งานนี้จัดเพื่ออะไร?  คำถามใหญ่ ที่ผมเองก็ยิงใส่ตนเอง
ตัววัดว่าสำเร็จคืออะไร?
คุณค่าแท้อยู่ตรงไหน? 
ดีกว่านี้ มีอีกไหม?
เราจะอยู่หรือไปร่วมงานในฐานะใด?
ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อใคร แค่ไหน?
แล้วไปถึงแก่นเชิงคุณค่าแท้นั้นจริงๆ รึเปล่า?

ทั้งหมด ตั้งคำถามเล่นๆ กับตนเองและถือโอกาสชวนคุยประกอบการตัดสินใจของน้องพี่

บอกเหตุผลมาสิ
ถ้าไปจะเกิดประโยชน์อะไรกับใคร?
และไม่ไป จะเกิดคุณค่าอะไร อย่างไร?
แต่ละคนยิ้มและหงึกหัว
เราเองก็ไม่ได้ห้าม ไม่โกรธ พร้อมรับฟังทุกๆคำตอบและการตัดสินใจของน้องๆ

พอโยนการตัดสินใจคืนไปให้เจ้าตัว
ย่อมสร้างความอึดอัดบ้าง เพราะส่วนใหญ่ 
เราเคยแต่ "สั่งมาเลย"  "บอกมาเลย จะให้ทำอะไร"
กระวนกระวายใจ จึงปรากฎแก่เจ้าตัวพอสมควร

แน่นอน เพราะมีสิ่งเกี่ยวเกาะ ผ่านความคิด ความเชื่อและพิธีกรรมเดิมๆ อยู่
ครั้นจะยกเลิก เซ็ทความคิด ความเชื่อชุดใหม่ จึงไม่ง่ายอย่างที่คิด

"เขาจะไม่ว่าเราหรือ?"
"คำสั่งก็มี แต่เราไม่ร่วมไม่ทำกับเขา แล้วจะ...."
"เกรงใจเหมือนกันนะ กลัวเขาว่า.."
"ทุกโรง(เรียน)มากันหมดเลย"
"จัดบูธอลังการมาก"
"สุดยอดเลย โรงเรียนเพื่อนหนูได้ไปต่อ (ระดับภาค)"
"เราไม่ไปตอนย้ายจะใช้อะไรประกอบ"

เห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกที่ตีเต้นเข้นบีบในใจของพี่น้องทุกคน

งานหนึ่งของผมคือ ต้องเขย่าพวกเขา 
เขย่าและเข้าโจมตี ความเชื่อ ความคิดเดิมให้เสียดุล 
พวกเขาจะเริ่มเขว รวน  เป๋ 
อาการเป๋นี้ คือโอกาส ที่จะทำให้แต่ละคน ดีดดึ๋งดึงตนกลับเข้าสู่ปกติ อีกครั้ง 

การดีดกลับสู่สมดุล คือกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมาย 
ช่วงนี้โหมดรู้ตัวและใคร่ครวญจะทำงานหนักมาก
เขาจะคุยกับใคร ถ้าไม่ถกกับตนเอง เอายังไงดีว่ะ ฯลฯ


หลังเขย่าแล้ว 
งานหนึ่งคือเฝ้าดูปรากฏการณ์
บางคำตอบ กระทำ หรืิอตัดสินใจ ได้บอกโจทย์พัฒนารอบใหม่ให้เรา 
สิ่งหนึ่งที่ต้องหยัดและมี คือ ยืนระยะรอบให้ได้ 
และบอกตัวเองว่า รอคอยได้ ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร 

คำตอบจึงไม่ได้อยู่ที่ Yes หรือ No เพราะตรรกะหลังนั้น สำคัญกว่า
พี่น้องจะไปหรือไม่ จึงไม่ได้มีผลต่อความรู้สึก
คำอธิบายลุ่มลึก เพราะอะไร อย่างไร หลังใคร่ครวญอย่างดีแล้วนั้นต่างหาก คือคุณค่า

ในถังขยะ อาจซ่อนปรัชญาความเข้าใจแห่งอาณาจักรของชีวิต ก็เป็นได้ 
ใครจะเข้าไปแตะถึงสภาวะในนั้นล่ะ ถ้าไม่ใช่ตัวเจ้าของเอง
ผมได้แต่แอบยิ้มอิ่ม ลึกๆ อยู่หลังบูธงานฯ

เราต่างเดินทางเรียนรู้กันและกัน

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ถนนมิตรภาพ

"เก่ง" เจ้าของ "ร้านกาแฟกุ๊บลายข่าน"   
ริมทาง 108  ซ้ายมือลงดอยผาบ่อง ก่อนเข้าเมืองแม่ฮ่องสอน 
คุยอย่างออกรส แก่ผู้มาเยือน

"... คนทุกวันนี้ ถูกใส่โปรแกรมให้เป็นหุ่นในเวลาทำงาน เช่น เป็นพัดลม ก็จะเป็นแค่พัดลม จะไม่เป็นอย่างอื่น ไม่ทำอย่างอื่น ..."

"...ทำตามหน้าที่แล้ว ก็อยากได้ค่าตอบแทน..."

แต่ในมุมสำหรับ "เขา" กลับมองว่างานที่ทำ มีความหมายมากกว่านั้น นิยามสั้นๆ แต่บาดลึกถึงเนื้อในคือ  

"งาน คือ ความสุข" 

ช่วงก่อน เขาจับเรื่องพันธุ์ไม้กล้าไม้
แหละไม่กี่ปีผ่านมา ก็เล่นกาแฟและร้านอาหาร ใช้บรรยากาศริมธาร ตกแต่งร้านจนเป็นออร์เดิร์ฟ เสิร์ฟต้อนผู้มาเยือน 

กระท่อมไม้ไผ่ มุงใบตองตึง รูปทรงสไตล์ไทยใหญ่ คือความแปลกใหม่ สะดุดตา แก่ผู้ผ่านไปผ่านมา โดยเฉพาะคนเมืองที่ไม่มีโอกาสได้เห็น ขณะเดียวกัน ก็ขุดต่อมสืบสานในสายธารสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมเก่าก่อนได้ไม่น้อย 

ช่วงฤดูหนาว จึงคราคร่ำไปด้วยลูกค้า จอดรถราเต็มข้างทาง เพื่อจิบและดื่มบรรยากาศบ้านๆ แบบนั้น กาน้ำร้อนที่กำลังตั้งเตา ไอพวยสายพุ่งออกจากปากกาต้ม คละคลุ้งควันไฟลอยอ้อยอิ่งลามเลียใบตองมุงหลังคา นับเป็นภาพโอชาในอารมณ์อยู่ไม่น้อย นี่คือยาแก้เบื่อและเมาเมือง ซึ่งผู้คนเลือกเสพดื่ม

ผมว่าจะดื่มกาแฟและน้ำชา สักถ้วย เขาก็รีบชิงพูดขึ้น

"ช่วงนี้ผมไม่ได้ขายครับ"

พลางผายมือ ให้ดูแปลงกล้าไม้ต่างๆ รวมถึงบ่อเลี้ยงกบและพันธุ์ปลา ซึ่งมีหลายบ่อ ซ่อนผสานอยู่ในเนื้อร้านเป็นที่จุดๆ กำลังจะลงตัว และนี่คือเหตุผลว่า เขาหยุดอะไร เพื่ออะไร

"คนทุกวันนี้ ไม่ได้ทำงานเพื่อเรียนรู้ แต่ทำตามหน้าที่ เพื่อรับเงิน"

เขาคุยถึงสิ่งที่พานพบ และนี่น่าจะเป็นสัจจะแห่งยุคสมัยตอกย้ำความเป็นหุ่นไขลานของผู้คน อีกครั้ง

ผิดที่มีคนแบบเขา หรือ ผิดที่คนเราย้ายคิดอ่านไปงานเพียงเพื่อรายได้ จนลืมความหมายหลายอย่าง 
แม้แต่ความสุข ดังที่เขาเห็นและกำลังเป็นให้ดู

"ไม่สุข จะทำทำไม"

เราทำอะไรเยอะ แต่ขาดตลาด ขาดประชาสัมพันธ์ 

"มีท่อรายได้ เช่น ขายกาแฟ เงินเข้า เป็นรายได้ จ่ายออก เป็นค่าของ ค่าคนงาน ก็เป็นรายจ่าย ท่อนี้ ทำยังไงก็ไม่ได้"
"ต้องมีวาล์ว เงินเข้าเป็นรายได้ ขณะเดียวกัน ต้องปิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น"


เขาปิดร้านในช่วงที่ไม่มีคน แล้วให้คนงาน กลับไปทำสวนในที่ทางของใครของมัน โดยเขาเป็นหุ้นส่วน เมื่อได้ผลผลิต เขาจะรับซื้อในราคายุติธรรม ได้เท่าไร หักใช้จ่าย แล้วแบ่งปันกันตามกติกา
คราวหน้างานมาถึง คนงานก็กลับเข้ามาทำงานในร้าน กินค่าแรงปกติ พืชที่เล่นกันมีหลายอย่าง แต่ที่ปลูกมากคือ กาแฟ ตอนนี้กำลังกระจายพันธุ์ปลาสู่ลูกสวน  

นอกจากวิธีคิดที่เขาออกแบบจนชัดในหัวแล้ว เขายังมีวิธีจัดการกับความคิดเป็นเนื้องาน อย่างน่าสน ตัวอย่างที่ยืนยันว่า ทุกอย่างกำลังเดินได้ คือ การเติบโต ของร้าน ทุกทิศทาง ไปไม่ได้ ร้านคงโตไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่

หลายปีมาแล้ว เขารู้ว่าผมจะไปอีสาน เลยฝากน้ำผึ้งป่าให้ไปถวายพ่อแม่ครูอาจารย์จำนวนหนึ่ง ฝากต้นมหาพรหมราชินีและไผ่ดำอินโด ให้มาปลูกที่สวนนาสีรุ้งงาม ตอนนี้ ไม้เหล่านั้นกำลังโตงาม เขาไม่ได้ตักตวง หน่วงกัก หากพอมีพื้นที่ ก็สร้างทำ เกี่ยวเก็บ สมควรก็แบ่งปัน ไม่ขาด แต่ก็ไม่พร่ำเพรื่อ

วันนี้ ท่อรายได้ที่เขาวางไว้ มองเห็นกำไรที่ชัดมากในอนาคต 
คุยกันอย่างออกรส หมดบุหรี่ไปหลายมวน
ปกติเขาสูบวันละซอง วันนี้มีความสุข ที่ได้แลกเปลี่ยน เคยสูบติดกันสามสี่มวน

ใช่อย่างเขาว่า "ไม่สุข จะทำไปทำไม"

ผมขอตัวออกจากร้าน วันหลังจะไปเยือนอีกแน่นอน