6-8 พฤษภาคม 2557
ในงานและเนื้องาน มีคำหลักที่มักคุ้นหู เช่น"กระบวนทัศน์ใหม่" "เรียนรู้" "สัมมาชีพ" " โอกาส" "ทักษะในศตวรรษที่ 21" "การศึกษาเชิงพื้นที่" "ปฐมวัย" "การอ่าน" ฯลฯ เป็นตัวเดิน ซึ่งเชื่อว่า กระตุ้นและส่งผลต่อคนที่ใฝ่แสวงในตอนนั้น อยู่ไม่น้อย
ผ่านมา ปี 2561 ช่วงวันและเดือนเดียวกัน
"อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง จงมีความสนุกกับการเปลี่ยนแปลง"
ภาพภาคีชัดขึ้น มีโรงเรียนเป็นเวทีใช้และพัฒนานวัตกรรม
จากวันนั้น จนถึงวันนี้ยังเห็นอาการ ดิ้น ตะเกียกตะกาย ขึ้นจาก "หลุมโหล่" ของอาเซียนผ่านความพยายาม ของ องค์กร กลุ่ม ด้วย วิธี รูปแบบ และ Platform ต่างๆ อยู่ไม่น้อย รวมไปถึง การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของ กอปศ. ที่มีความเชื่อว่า หากปลด Lock กฎหมายจะคลี่คลายและสร้างคุณภาพได้
กอปศ. พยายาม ดันกฎหมายใหญ่หลายฉบับ เช่น "พ.ร.บ.ครูใหญ่" แต่ก็อย่างที่ทราบ ไม่ทันได้ใหญ่ ต้องมีอันเป็นไปก่อนล่ะ ด้วยการ สกัดจุดต่ำ ตัวเองของ ครม.
แน่นอน พ.ร.บ. ครูใหญ่ เลยมีอันเป็นหมันไป (ทั้งที่ไส้ใน มีสาระสำคัญต่อการเคลื่อนขับคุณภาพอยู่ไม่น้อย) ขณะพี่น้องกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรม ปฐมวัย กระทรวงใหม่ กองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา ไปทาแป้งแต่งหน้ารอแล้ว นั่นก็คือรอยก้าวของที่ผ่านมา
นับถึงพฤษภาคม 2562
ต่อเนื่อง ผ่านความพยายาม "ปรับ" และ "เปลี่ยน"
เช่น โครงสร้าง ระเบียบกฎเกณฑ์ ฯลฯซึ่งถ้าไม่เปลี่ยน เราจะไม่มีวันได้เห็น กองทุนความเสมอภาคหากไม่เปลี่ยน จะไม่เห็นการขึ้นโจทย์จาก Area Base ใช้จังหวัดพัฒนาตนนาม "พื้นที่นวัตกรรม" มีพี่เลี้ยงจากภาคี เข้าช่วยเหลือเกื้อกัน
หากไม่เปลี่ยน คงไม่เห็นการตื่นตัวและจัดกิจกรรมในรูป Active มากขึ้นของโรงเรียนและหากไม่เปลี่ยน คงไม่เห็น Sand Box ที่พร้อมจะล้มในพื้นที่สุ่มเสี่ยงและเสียหายน้อยได้
ความจริงแล้วท่ามกลางเสียงก่นด่า หรือท้อแท้ หมดหวัง
กลับมี องค์กร กลุ่ม โรงเรียน หรือ คนต้นแบบ กลุ่มเล็กๆ ที่ไม่หยุดสร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ อยู่ทั่วประเทศ
หลายแห่ง ได้กลายเป็นศูนย์กลาง กระจายนวัตกรรมสู่ Node ขยายผลสู่ โรงเรียน ครู ที่สนใจมากมายและต่อเนื่อง เช่น ร.ร.ลำปลายมาศพัฒนา ร.ร.รุ่งอรุณ สถาบันอาศรมศิลป์, นวัตกรรม BBL, Open Approach ร.ร.เพลินพัฒนา ร.ร. มีชัยพัฒนา โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (สกว.) ฯลฯ แม้แต่โรงเรียนพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (sQip) ของ กสศ. ก็ขึ้นโครงเชิงระบบได้อย่างน่าสน เหลือเพียงใส่ App ใหม่ ตามบริบทใช้งาน ก็จะตอบคำว่า "เรียนรู้" ได้ "อภิ" ยิ่งขึ้น
เหล่านวัตกรและนวัตกรรมขององค์กรหมู่นี้
มุ่งชี้ไปที่คำว่า “คุณภาพครู คือ คุณภาพคน (ผู้เรียน)”
ครูที่มี "ของ" หรือ "ทุน" จะสร้างการเรียนรู้ที่ดีได้จะมีได้ ต้องลึกลงไปถึงระดับ "Mindset" ทีเดียว
แม้ที่ผ่านมา หน่วยเหนือ ก็พยายามโดยใช้งบประมาณลงไปอบรมครูแต่ก็ทำได้เพียงพัฒนา "เทคนิค" "วิธีการจัดการเรียนรู้" หรือ “สร้างความตระหนักชั่วคราว”
ตัวตนไม่ยืนระยะ ขณะระบบและสิ่งแวดล้อม ในองค์กรเดิม
ไม่รองรับ อบรมกันมา ก็ไปไม่ถึง เปลี่ยนใหม่
ทำได้แค่ "รับหลักการ" แต่พอ "ปฏิบัติการ" ซึ่งพื้นที่ไม่มีสัพปายะและกัลยาณมิตรรองรับ ก็ตีบตัน ในที่สุด แต่ละคน ก็หลบเข้าเงียบ
เก็บตัวไว้ในพื้นที่ปลอดภัย ภาพการเปลี่ยน จึง ผลุบๆ โผล่ๆ ผีเข้าผีออก ไม่เสถียร เพราะไม่ได้เปลี่ยนจากข้างใน จนกลายเป็น “เปลี่ยนทั้งเนื้อทั้งตัว” อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม
ไม่ได้หมายความว่า การพัฒนา เทคนิค วิธี ที่เป็นอยู่ไม่ดีนะ
จะได้ผลและดีกว่า ถ้าทุกการลงทะเบียนพัฒนา พาไปสะเทือนถึงต่อมข้างใน
ขณะเดียวกัน มดลูกก็ต้องสร้างอู่รอรับการฝังตัวของทารก ด้วย
ประเด็นหนึ่งใน "งานอภิวัฒน์ฯ"
ตอนแรก ๆ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่น่าสลักสำคัญอะไร
แต่แล้ว ความเห็นก็เปลี่ยนไป
เพราะ 5 ปีมานี้ ได้สังเกตเห็นคนที่ เปลี่ยนตน ได้มากยิ่งขึ้น พบว่าแต่ละคนเหล่านั้น ล้วนมีแกนร่วมสำคัญ มาจาก การอ่าน
อ่านจนเปลี่ยนพฤติกรรม จิต และปัญญา
มีท่าทีต่อตน คนอื่น สรรพสิ่ง และโลกใหม่ในทางที่ดีขึ้น
การอ่าน ที่ว่า ไม่ใช่แค่ อ่านออกเขียนได้
ไม่ใช่วิชาภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ติด Grammar หรือข้องคาศัพท์แสง
ตลอดเวลา ๕ ปี จึงทำให้มีความเชื่อใหม่ว่า
การอ่าน คือ จุดเปลี่ยน เปลี่ยนสู่ การเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง
หากถามว่า สิ่งที่จะทำให้เกิดการ อภิวัฒน์ คืออะไร?
ตอบอย่างไม่ลังเล คือ การอ่าน เพราะกระบวนการอ่าน ที่ดี จะลงลึกถึง Mindset แล้วสะสมพลังงานไปสู่การเปลี่ยนครั้งใหญ่ แบบ “ทั้งเนื้อทั้งตัว” ของคนนั้นๆ
ร่ายมาซะยาว เพียงอยากบอกว่าองค์กร ภาคี กลุ่ม โรงเรียน คนต้นแบบ ที่ขับเคลื่อนการศึกษา ยังมีและยังคงเดินทางอย่างต่อเนื่องอยากให้กำลังใจและเป็นส่วนหนึ่ง ในบริบทที่เราทำได้ (หนึ่ง)
ลึกลงไป คนเหล่านั้น เริ่มถางทางสร้างโอกาส จากนาสวนผืนเล็กๆ ของตนพัฒนายกระดับคุณค่าแห่งตนด้วยนวัตกรรม ซึ่ง Key success ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนในระดับบุคคล องค์กร สู่สังคม จนอภิวัฒน์ได้เหตุปัจจัยซ่อนลึกอยู่ใต้ฐานของโครงสร้างประเทศไทย คือการอ่าน (สอง)
ที่สำคัญ คนต้นแบบ องค์กร ภาคี ทั้งหลาย ล้วนเป็นนักอ่าน (สาม)
สำหรับคนสันภูอย่างพวกเราแล้ว
แม้จะยังไม่ได้เป็นต้นแบบอะไร แต่ก็พยายามเดิน เดิน ด้วยก้าวของเราเอง นั่งลงเงียบๆ สักที่หนึ่ง ในสวนและป่า พูดคุยผ่านกระบวนการเล็กๆ ของโลกอักษร ห้อมล้อมด้วยรู้สึกรู้สาละเอียดและสั่นสะเทือน ปลุกพลังและมีความสุข ตลอดจน สนุกกับนาวาการเปลี่ยนแปลง
ใน ล้อมวงอ่านข้ามภูดอย
มีใบสัก ยอดหญ้า หินผา กาแฟ ผ้าทอ ขุนเขา กระเป๋าย่าม ลานโล่ง สักแห่งหนึ่ง
เพียงเชื่อว่า การอภิวัฒน์ใหม่โดยประชาชนนั้นเกิดขึ้นได้
ทุกคนทำได้ แค่เปิดใจ เปิดปก อ่านบรรทัดใหม่ของชีวิต
จากรหัสนัยและน้อมสู่การเปลี่ยนแปลง
5 ปีที่ผ่าน การอ่านจึงเป็นกุญแจอภิวัฒน์
พิณ คืนเพ็ญ
คืนฝนปรอย บนดอยแม่ลิด
๒๒ พ.ค. ๖๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น