

"เวทีนี้ มีไว้เพื่อบันทึกและบอกเล่าเรื่องราวของคนสันภู ซึ่งเป็นเสมือนยุ้งข้าว คอยเก็บผลผลิตของฤดูกาลแห่งชีวิต ทั้งของตนและคนแรมทาง เป็นมุมเล็กๆมุมหนึ่งในครัวอักษรา แบ่งปันบางอย่าง ให้ได้อ่านคิดคุย มิได้ โดดเด่นดังดี อะไรดอก แค่ได้บอก เชื้อชวน ให้ขบบ้าง ก็เท่านั้น เพราะเชื่อว่า ถ้ายุ้งข้าวนี้ ทำให้คนได้อ่าน มากกว่าสิ่งที่ได้เขียน ก็คิดว่า ได้ทำหน้าที่อย่างยิ่งใหญ่แล้ว ก่อนที่ ถ้อยคำแห่งการพลัดพรากจะผุดเปล่ง ก่อนบทเพลงสุดท้ายแห่งชีวิตจะบรรเลง ตามกฎธรรมดา ก็เท่านั้น"
วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554
ลดทุกข์สุขเพิ่ม
..........ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากได้เห็น ได้ยิน ได้ชม หรือได้สัมผัสอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ต้องการ หรือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ คนเราจะมีปฏิกิริยาโต้กลับอย่างทันควัน ผ่านการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ตอบถ้อยกระทงความอย่างเสียมิได้ บ้างแสดงกิริยากระโชกโฮกฮาก บ้างออกอาการหงุดหงิด บ้างกระฟัดกระเฟียด ฟาดงวงฟาดงา บ้างก็สะสมไว้เป็นระเบิดเวลา รอวันประทุดุเดือด ฯลฯ อากัปกิริยาเช่นนี้ มักเห็นได้อยู่เป็นประจำในแต่ละคน แต่จะมากน้อย หรือเข้มข้น รุนแรง บางเบาเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับภูมิธรรมของผู้นั้นเป็นสำคัญ
.............ในแต่ละวัน เรามักหนีไม่พ้นกับปัญหาวุ่นวายที่ได้พบพานอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ ปัญหาของตนเอง คนอื่น และคนอื่นที่เราเข้าไปพัวพันกับเขา มันจึงเกิดการปะทะสังสรรค์กันในระดับหนึ่ง ถ้าไม่มีหลักคิด เมื่อเจอปัญหาหรือสิ่งมากระทบกับตนเอง ก็มักจะจบลงด้วยความโกรธ เกลียด เครียด เจ็บ ป่วยและ ตายอย่างทรมานในที่สุด ผู้มีปัญญาจะยังปล่อยให้ตนเอง จ่อมจมกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้อยู่หรอกหรือ?
...........เป็นคำถามที่เฝ้าถามดูอาการตนเอง เกือบทุกวี่วัน แต่ยังไม่สามารถหลุดพ้นหรือลดรอนให้ปัญหาจางหายไปได้ ครุ่นคิดอย่างเป็นจริงเป็นจังก็สรุปบทเรียนว่า แท้จริงแล้ว เรามีทุกข์ 2 ทาง หนึ่งคือทุกข์ทางกาย สองคือ ทุกข์ทางใจ
........ทุกข์ ทางกาย นั้น ก็เรื่องการอยู่ เดิน กิน นอน ถ้าเกินขาดก็เสียสมดุล เกิดทุกข์
........ทุกข์ ทางใจ นั้น ก็เช่นกัน แต่ซับซ้อนยิ่งกว่า เพราะมันเกิดจากใจของมันเองก็ได้ หรือสืบเนื่องมาจากทุกข์ทางกายก็ได้ สายนี้ยากและยุ่งในการแก้ไข และเป็นเหตุใหญ่ที่นำไปสู่ทุกข์ระทม
......อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะทุกข์กาย หรือทุกข์ใจนั้น ล้วนมีแหล่งกำเนิดต่างๆ ที่มาสัมผัสกับช่องทางรับรู้ต่างๆ ของเรา อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจทั้งสิ้น
ทุกข์ทุกครั้ง สำคัญที่ ใจ ของเราเข้าไปทำการโต้ตอบ ตอกย้ำ บีบรัด ยึดเหนี่ยว จนมันเสียดุลยภาพไป มันจึงทุกข์
......วิธีแปลงทุกข์ให้สุขนั้น จึงควรทำดังนี้
1.รู้ทันแหล่งกำเนิดทุกข์: รู้ว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนั้น เหตุเช่นนั้น จะนำมาซึ่งทุกข์แน่ๆ จงระวัง
2.รู้ทันช่องทางรับรู้ ทั้ง 6 : พยายามปิดประตูทั้ง 6 ไม่ให้สัมผัสแหล่งกำเนิดทุกข์นั้นๆ
3.สุดท้าย สำคัญที่สุด คือ รู้ทัน ใจ พยายามอย่าเอาใจไปรับกับสิ่งที่มา สัมผัส เมื่อใจไม่ได้รับ หรือสัมผัสกับสิ่งใด ตั้งอยู่ในความนิ่ง ก็ไม่สั่นไหว เมื่อไม่สั่นไหวมันก็สงบ เมื่อสงบ ก็จะพบความสุข ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่ง ที่ครุ่นคิด ทบทวน ไปมาอยู่สุดวัน จนปวดหัวตึ๊บๆ เมื่อรู้แล้ว จะพยายามปฏิบัติ คิดว่าน่าจะเป็นแนวทางการบำบัดทุกข์ หรือลดทุกข์สร้างสุขกับตนเองได้..........
ขอบคุณตนเอง จากใจจริง
วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554
ไรอัน ไดสเดล : ครูอาสา อาสามาด้วยใจ
คุณ ไรอัน ไดสเดล คือ ครูชาวอเมริกันอีกคน ที่อาสามาสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนในพื้นที่กันดารห่างไกล...... โรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ เป็น 1 ใน 3 โรงเรียนบนดอยที่ได้รับโอกาสที่ดีเช่นนี้ ไรอัน สอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้น ป.2-6 โดยจัดกิจกรรมง่ายๆ สนุกสนานและเป็นกันเอง เขาใช้บทสนทนาพื้นฐาน มีเกมและมักจะร่วมเล่นกับเด็กๆ เสมอ เขาจึงเป็นคุณครูที่จดจำและน่าเรียนรู้ของเด็กๆที่นี่ ทุกคนที่ได้เรียนกับเขา จะรู้จักและจำไรอันไปอีกนานแสนนาน .....
....ผมติดต่อครูอาสาท่านนี้ ผ่านทาง ผู้ประสานงาน มูลนิธิสามสาระ คือ ผอ.พูลศักดิ์ โรงเรียนบ้านห้วยผึ้งใหม่ นับเป็นครูอาสา ชาวต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุนผ่านทางมูลนิธิสามสาระและมาสอนที่แม่นาจางเหนือแล้ว เป็น คนที่ 3 ตลอดระยะเวลาที่เขามาแม่นาจางเหนือ ไรอัน จะพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไวมาก เขาเป็นฝรั่งที่พูดไทยเก่งคนนึง รู้แม้กระทั่งคำพื้นฐานของกะเหรี่ยง และม้ง ซึ่งคนไทยบางคนอาจจะยังไม่รู้เลย
....ผมมีโอกาสได้สนทนากับเขา แลกเปลี่ยนมุมมองของชาวเอเชียกับชาวอเมริกาหรือยุโรป ผ่านบทสนทนาทั้งภาษาและมือไม้ เท่าที่ผมจะพูดได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ร่วมกันก็คือว่า .....เหนือสิ่งใดๆ ในโลกนี้ จิต คือสิ่งสำคัญที่สุด ศาสตร์ตะวันออกของเราได้พร่ำสอนเรื่องนี้ผ่านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมต่างๆ ส่วนศาสตร์ตะวันตกนั้น อยู่กับการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงอยู่กับธรรมชาติให้ได้ ...
....บางครั้งอาจจะพยายามอยู่เหนือธรรมชาติ ผ่าน เครื่องมือ ที่ทันสมัย เรียกว่า เทคโนโลยี วิ่งวุ่นกับการไขว่คว้าและให้ได้มาของทุนและวัตถุ...
.....ไรอันบอกว่า ...ที่อเมริกาทุกนาทีถูกจำกัดด้วยภาระงาน ถูกบีบรัดด้วยความวุ่นวายและการวิ่งเข้าหาความสำเร็จจากการครอบครองบางสิ่งบางอย่าง แต่สำหรับที่นี่ เขาบอกว่า.... อิจฉาคนไทยจริงๆ แม้จะห่างไกล แต่มีธรรมชาติที่งดงาม มีสายลมคอยพัดวี มีสายน้ำคอยให้ความฉ่ำเย็นในดวงใจและที่สำคัญคือ มีธรรมะที่เพาะบ่มให้เข้าถึงสภาวะภายใน....
...............เป็นเวลา 1 ปี เต็มแล้ว ที่ไรอันมาสอนที่นี่ บัดนี้เขาจะไปที่อเมริกา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พร้อมๆ กับการทำด๊อกเตอร์ ผมดีใจกับเขา และร่วมอวยพรชัยกับไรอัน ขอให้ฝันของเขาเป็นจริง มีโอกาส เมืองไทย จะยิ้มต้อนรับคุณเสมอ ....คุณเป็นฝรั่งที่ดีคนนึงที่ผมรู้จัก...ไรอัน ไดสเดล แห่ง ไอโอวา อเมริกา

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554
คนเอย

....เพลง หนึ่งเพลง ฟัง สาม ถึง ห้านาที ..... รู้สิ้น
....หนัง หนึ่งเรื่อง ดู สองถึงสามชั่วโมง ..... รู้จบ
....หนัง หนึ่งเรื่อง ดู สองถึงสามชั่วโมง ..... รู้จบ
...หนังสือ หนึ่งเล่ม อ่าน วันสองวัน ..... ยังรู้วาง
...แต่คนเพียงคน ใบหน้ามนๆ ดวงตากลมๆ เพียงคู่
...แต่คนเพียงคน ใบหน้ามนๆ ดวงตากลมๆ เพียงคู่
พินิจ ดู ฟัง อ่าน สุดวัน จากเช้าจวบเย็น จนถึงอีกวัน
ก็ยังอ่านบ่มีจบ บ่มีสิ้น ......
คนเอย เจ้าคิดอันใด อยู่หนอ
คนเอย เจ้าหวังสิ่งใด อยู่หนอ
คนเอย ยากนักหนอ จักเข้าใจ
คนเอย ยากนักหนอ ...จักหยั่งถึง.... คนเอย....คนเอย
โรงเรียนดีประจำตำบล
24 สิงหาคม 2554 สพป.มส. 2 ได้จัดประชุมชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อน โรงเรียนดีประจำตำบล โดยมีโรงเรียนดีประจำตำบล 21 โรงเรียนจาก 3 อำเภอ พร้อมด้วยผู้บริหารโรงเรียน ครู กรรมการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมเพื่อสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ ได้นำคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนดีประจำตำบลเข้าร่วมด้วย นำโดย นายคุณากร พิทักษ์ชลทาน กำนันตำบลแม่นาจาง และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ อีก 6 คน ในงาน มีการนำเสนอจากหลายๆ ฝ่าย มีบทเรียนหนึ่งที่ควรคิดว่ามีความสำคัญและเป็นปัจจัยไปสู่ความสำเร็จของงานการต่างๆ ได้ คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะเห็นได้ว่า โรงเรียนที่ประสพความสำเร็จนั้น เกิดจากการให้การสนับสนุนที่ดีจากชุมชน อบต. ภาคเอกชนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งถ้าลำพังโรงเรียนขับเคลื่อนเพียงผู้เดียว ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะสำเร็จได้ นับเป็นโจทย์อีกโจทย์หนึ่งที่ผมต้องนำมาขบคิดและวางแผนพัฒนา....ทำอย่างไร เราจะให้โรงเรียน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษา...แล้วร่วมมือพัฒนาไปพร้อมๆ กัน...




นิเทศติดตามของ สพป.มส.2
นายประทาน หาดยาว รอง ผอ.สพป.มส. 2 พร้อมคณะ ได้มานิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านแม่นาจางเหนือ ในวันที่ 22-23 สิงหาคม 2554 โดยได้ให้ข้อเสนอแนะ ข้อแลกเปลี่ยน และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับ เรื่องการจัดระบบประกันคุณภาพภายใน ความเป็นครู ความมีจิตสาธารณะ ซึ่ง ท่านรอง ได้ชื่นชมคณะครูว่ามีไมตรีจิตต่อมิตรที่ผ่านพบยิ่งนัก


วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554
ดูงานโรงเรียนขนาดเล็ก ลำพูน
คณะกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 นำโดย นายสมบูรณ์ สันชุมภู รอง ผอ.สพป.มส. 2 นำคณะศึกษาดูงาน สพป.ลำพูน เขต 1 โรงเรียนขนาดเล็ก ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านทาป่าเปา โรงเรียนบ้านดอยคำ ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2554 ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ดังนี้
โรงเรียนบ้านทาป่าเปา
เจอ นวัตกรรม "บวร" ซึ่งเป็นการผสานความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกันของ บ้าน องค์กรศาสนา และชุมชนผ่านกิจกรรมเด่นๆ ของโรงเรียน เช่น โครงการสืบสานฯ กิจกรรมอนุรักษ์ป่า สถาบันการเงิน ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านต่างๆ
รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนแบบคละชั้น

โรงเรียนบ้านดอยคำ แม่ทา ลำพูน
ได้พบ จุดเด่น การบริหารจัดการของโรงเรียนมีความเป็นองค์รวม ทุกกิจกรรมลงสู่นักเรียน ผู้บริหารเป็นผู้นำทางนวัตกรรมการศึกษา ผ่านนวัตกรรมหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น การใช้สนามกอล์ฟเป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อนำชุมชนและองค์กรภายนอกเข้าร่วมจัดการศึกษา การใช้ เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน ห้องเรียนมอนเตสฯ การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนการสอน

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554
ทางเก็บกอดความงดงาม


.....ทางสายเก่า....ที่มีเรื่องราวใหม่ๆ
.....มีความสุข ....มีความงดงามสองข้างอย่างมิขาดสิ้น
......คราเหนื่อยอยากจอดก็จอดเอาดื้อๆ ไม่ต้องเป็นกังวลว่าใครจะแจกใบสั่ง
......ล้าก็ปิดเครื่อง หลับข้างทางเป็นประจำ จวบจนร่างกายสู้ไหวจึงเดินทางต่อ
......มันจึงเป็นมากกว่าทางไปมา แต่อาจสร้างค่าการสัญจรสู่ความสุขสงบภายใน
อันสูงยิ่งของใครสักคนก็เป็นได้
......แม้วันเวลาจะผ่านเลยมาหลายปี
ทางสายเก่า แม่โถ ห้วยผึ้งใหม่ แม่นาจางเหนือ
......คราเหนื่อยอยากจอดก็จอดเอาดื้อๆ ไม่ต้องเป็นกังวลว่าใครจะแจกใบสั่ง
......ล้าก็ปิดเครื่อง หลับข้างทางเป็นประจำ จวบจนร่างกายสู้ไหวจึงเดินทางต่อ
......มันจึงเป็นมากกว่าทางไปมา แต่อาจสร้างค่าการสัญจรสู่ความสุขสงบภายใน
อันสูงยิ่งของใครสักคนก็เป็นได้
......แม้วันเวลาจะผ่านเลยมาหลายปี
.....แม้มิตรสหายผู้ร่วมรอนแรมสัญจร จะพานพบและหนีจาก
แต่เส้นทางก็ยังเกี่ยวเก็บความงดงาม คุณค่าต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนทุกซอกตรอกมุม ยังคงรายละเอียดของอดีตและปัจจุบันไว้อย่างรอบด้าน
...เส้นทางสายนี้ จึงเป็นมากกว่า การมีไว้สำหรับการไปและมาของใครใคร
..เส้นทางสายนี้ จึงมีค่ามากกว่า รองรับ การบรรทุก ขน แบก สัมภาระต่างๆ ของนักเดินทาง
...เพราะมันเป็นเส้นทางสายสัญจรของมโนธรรมสู่ห้วงสำนึก เป็นเส้นทางการจาริก สู่ความสุขสงบภายใน และเป็นเส้นทางที่จะนำเราดำดิ่ง เข้าสู่ภวังค์ส่วนลึกภายใน อย่างสุดซึ้ง....
....ขอบคุณธรรมชาติ ขอบคุณเส้นทางสายเก่าสายนี้...ที่ทำให้ข้ามีความรู้สึกดีๆ เช่นนี้ตลอดมา
วันเวลาอาจผ่านผัน ผู้สัญจรอาจผ่านไกล แต่สำหรับข้าแล้ว ....มิเคยคิดที่จะผ่านเลย หากแต่จะกอดเก็บความงดงาม ความทรงจำ และคุณค่าของเส้นทางสายนี้ไว้ข้างในเสมอ
..........................................
คารวะด้วยใจจริง
พิณ คืนเพ็ญ
วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554
วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554
อบรมพัฒนาการวิจัยสู่ความเป็นเลิศ ณ พิษณุโลก

8-11 สิงหาคม 2554 ข้าพเจ้าพร้อมคณะ ประกอบด้วย ท่านประทาน หาดยาว รองผอ.สพป.มส.2 ท่านสมคิด ศรีธร ศึกษานิเทศก์ ท่านบำรุงศักดิ์ บูระสิทธิ์ ผอ.โรงเรียนบ้านเลโค๊ะ ได้เข้าร่วมอบรมโครงการพัฒนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสู่ความเป็นเลิศ จุดที่ 3 ณ โรงแรมน่านเจ้า จังหวัดพิษณุโลก ตามหลักสูตรการวิจัยสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งกำหนดการจัดกิจกรรม 3 วัน
วันแรก ได้เรียนรู้และมีความกระจ่างชัดในเรื่องนวัตกรรมทางการศึกษาจากท่าน รศ.ดร.รัตนะ บัวสนธ์ ดังนี้
1.นวัตกรรมแบ่ง 2 อย่าง คือ
รูปธรรม ได้แก่ แบบฝึก ชุดฝึก CAI ที่สามารถสัมผัสจับต้องได้ ครูผู้สอนส่วนใหญ่นิยมใช้นวัตกรรมประเภทนี้
นามธรรม ได้แก่ เทคนิค วิธีการ รูปแบบ แนวคิด ซึ่งไม่สามารถสัมผัสได้โดยตรง ส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมทางการบริหาร
2. การหาประสิทธิภาพ
รูปธรรม ใช้ E1/E2
นามธรรม ใช้ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ของนวัตกรรม เช่น การสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ
3. ฐานคิดของการเขียนรายงานนวัตกรรมนั้น ใช้วงจร R&D เริ่มจาก
3.1 ศึกษา สำรวจปัญหา .......นำไปสู่การค้นพบปัญหา (โรคที่ต้องรักษา)
3.2 การสร้างนวัตกรรม.....หาและสร้างยารักษาโรค
3.3 การทดลองใช้และพัฒนา....การนำยาไปใช้รักษาโรคของผู้ป่วย เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนายาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
3.4 การประเมินและปรับปรุง....ตรวจสอบ ว่า ยา ที่สร้างขึ้น รักษาโรค ได้ดีเพียงใด จะเพิ่มประสิทธิภาพและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดได้อย่างไร พร้อมกับการเขียนรายงาน ให้คนทราบ
4. รูปแบบการเขียนรายงานในแต่ละขั้นของ R&D นั้น ต้องให้สอดคล้อง ร้อยรัดกัน ซึ่งแต่ละขั้น ควรเขียนองค์ประกอบด้งนี้
แหล่งข้อมูล
เครื่องมือในการเก็บข้อมูล
การหาประสิทธิภาพของเครื่องมือ
การวิเคราะห์ข้อมูล
วันที่ 2 นั้น ท่าน ดร.สมเดช สีแสง ผอ.สพป.นครสวรรค์ 3 ได้บรรยาย เกี่ยวกับเกณฑ์ของวิทยะฐานะต่างๆ ได้เรียนรู้ดังนี้
1. เกณฑ์การให้คะแนนด้านต่างๆ มีความสำคัญ งานทุกชิ้นที่เขียน ต้องยึดเกณฑ์เป็นสำคัญ
2. เอกสารขอวิทยะฐานะ ต้องมีการรวบรวม จัดเก็บ และเขียนอย่างเป็นระบบ
3. ค่อยๆ เก็บสะสม ไปเรื่อยๆ งานทุกอย่างต้องอาศัยเวลาเป็นเหตุปัจจัย
4. การคิดเชิงระบบ มีความสำคัญ เพราะจะนำมาสู่การวิเคราะห์รายละเอียดต่างๆ ยิ่งมองภาพรวมได้ชัดเจน ยิ่งเห็นรายละเอียดถี่ถ้วน
5. ด้าน 1-2 เวลาเขียนให้ร้อยรัดกับผลงานทางวิชาการ ด้าน 3
ฯลฯ
ภาพ ข้าพเจ้า ได้สอบถามปัญหาและข้อสงสัยต่างๆ หลังการอบรม
วันที่ 3 ข้าพเจ้า พร้อมคณะได้นำเสนอความคืบหน้าของงานวิจัย ให้กับผู้เชี่ยวชาญได้วิพากษ์วิจารณ์ ชี้แนะและเติมเต็มประเด็น ได้รับเกียรติจากท่าน ดร.ปกรณ์ กล้าผจญ คณาจารย์ ม.นเรศวร ท่านชี้แนะดังนี้
1. ความชัดเจนของ ปัญหา
2. ความสอดคล้องของ ยาที่จะใช้รักษาโรค
ฯลฯ



ปล. ต้องขอขอบพระคุณ ท่าน ประสงค์ สุภา ผอ.สพป.มส.2 ที่ให้โอกาสดีๆ ในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ขอขอบพระคุณท่าน รอง ประทาน หาดยาว ที่เห็นหัวหน้าทีมในการเรียนรู้และให้การดูแลพวกเราตลอดหลักสูตร ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกคนที่พานพบ เราได้เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อรังสรรค์ให้โลกงาม....
พบกันใหม่ เดือนหน้าที่ ขอนแก่นครับ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)